กปน. ร่วมมือ อจน. บูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน

Featured Video Play Icon

วันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น.ณ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานใหญ่ การประปานครหลวง (กปน.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือบูรณาการบริหารจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างยั่งยืน ระหว่าง กปน. และองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน. นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. และนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน. เป็นผู้ลงนามบันทึกความร่วมมือ และมีคณะผู้บริหารจาก กปน. และ อจน. ร่วมในพิธี เพื่อร่วมกันบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการน้ำประปาให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบและการจัดการน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 ด้าน ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) การพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะความชำนาญด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสม และระบบประเมินผล คุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SE-AM)

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้กำกับดูแลและมอบนโยบายให้ กปน. และ อจน. มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการทั้งน้ำดีและน้ำเสียอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน. กล่าวว่า กปน. มีภารกิจในการสำรวจ จัดหาน้ำดิบ เพื่อนำมาผลิตและให้บริการน้ำประปาที่สะอาด ความร่วมมือกับ อจน. ในครั้งนี้ จะช่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงสนับสนุนให้ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน. กล่าวว่า อจน. ให้ความสำคัญการบริหารจัดการน้ำเสีย ซึ่งความร่วมมือกับ กปน. จะก่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นทางการจัดการน้ำดี จนถึง ปลายทางการจัดการน้ำเสีย ในการให้บริการน้ำประปาและบริหารจัดการน้ำเสียอย่างบูรณาการและยั่งยืนต่อไป

การประปานครหลวงและองค์การจัดการน้ำเสีย ร่วมมือบูรณาการจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นทางการจัดการน้ำดีไปถึงปลายทางการจัดการน้ำเสีย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการให้บริการที่เป็นเลิศแก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน