ผู้ว่าฯอยุธยา ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจการดำเนินงาน ธนาคารขยะรีไซเคิลเปลี่ยนขยะเป็นเงินตรา ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ของบ้านเกาะพระ อบต.บ้านโพ อำเภอบางปะอิน พร้อมมีแผนช่วยเสริมทุกพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนไปสู่บ้านเมืองสวยสะอาด

วันที่ 24 มีนาคม 2564 เวลา 08.30 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการขยะต้นแบบ หมู่ 7 ตำบลบ้านโพ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน “ธนาคารขยะรีไซเคิลเปลี่ยนขยะเป็นเงินตรา ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม” ขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโพ โดยมี นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน นายอนันต์ ถ้ำทอง ท้องถิ่นจังหวัด นายรัตนะ พันธุ์สวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโพ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมกว่า 14 หมู่บ้าน 1,309 ครัวเรือน

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การคัดแยะขยะที่ต้นทาง ของชาวบ้านหมู่ 7 หรือบ้านเกาะพระ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีเส้นทางคมนาคม ต้องสัญจรโดยทางเรือ ซึ่งได้พร้อมใจกันนำไปเป็นเครื่องมือที่ใช้ในหลายพื้นที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งส่งผลดีต่อความสะอาดของบ้านเมือง ซึ่งนอกจากความสะอาดแล้ว ยังมีคุณประโยชน์อีกหลายอย่าง โดยขยะสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นราคาได้ ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้าน ม.7 ตำบลบ้านโพ จึงไม่ทิ้งขยะด้วยความที่ขยะมีคุณค่า อีกทั้ง อบต.บ้านโพ ยังช่วยเสริมการวางระบบการจัดการด้านขยะที่คัดแยกแล้วนำมาขาย เมื่อขายแล้วจะนำมารวมกันจัดตั้งเป็นธนาคารขยะ และส่งเสริมด้วยการขยายผลเป็นสวัสดิการชุมชน ในหมู่บ้านของไทย – พุทธ ไปเป็นกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์

ดังนั้น เมื่อสมาชิกธนาคารขยะเสียชีวิต เพื่อนสมาชิกจะหักเงินในบัญชีธนาคารขยะคนละ 40 บาท เอาไปช่วยเป็นค่าจัดงานศพ ซึ่งชุมชน หมู่ 7 ตำบลบ้านโพ แห่งนี้ ทาง นายก อบต. ได้ดำเนินงานมา 3 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560 มีเงินกองทุนสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ 2 หมื่นบาทเศษ ซึ่งถือว่าเยอะมากในพื้นที่ ซึ่งเงินในกองทุนดังกล่าว จะเป็นการผ่อนภาระให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต นี่คือคุณประโยชน์อย่างแรก ของการบริหารจัดการขยะ โดยการคัดแยกจากต้นทางแต่ยังมีผลลัพธ์อย่างอื่นที่ดีมากกว่านั้นคือ ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะลดลงเกือบ 50% จากเดิมในแต่ละปี อบต.บ้านโพ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำขยะไปทิ้งที่บ่อขยะปีละ 5 แสนบาท และผลดีอีกประการ คือ ประชาชนในพื้นที่ทุกคนพูดตรงกันว่า การคัดแยกขยะแล้วทำให้พื้นที่สาธารณะในชุมชนสะอาดตาขึ้น และยังช่วยลดปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออกเพราะภาชนะต่าง ๆที่ทิ้งไว้ ชาวบ้านในพื้นที่เก็บและบริหารจัดการทั้งหมด จึงไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ที่ให้ยุงลายมาวางไข่

ดังนั้น ในเวลานี้จังหวัดของเราถือว่า เป็นพื้นที่ซับซ้อนทางด้านชนบท ด้านอุตสาหกรรม และเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการท่องเที่ยว เราทุกคนต้องทำบ้านเมืองของเราให้สะอาด เราจึงต้องการกระตุ้น และมีการส่งเสริม โดย อบต. เทศบาล เป็นหน่วยงานกลไกสำคัญ ที่ต้องนำแนวคิดมาเชื่อมโยงให้ชาวบ้านไปปฏิบัติ เชิญชวนชาวบ้านทำ สอนชาวบ้านทำ เมื่อชาวบ้านเริ่มทำเองได้แล้ว ค่อยให้กำลังใจในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน เมื่อเป็นดังนี้การคัดแยกขยะจากต้นทางจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นผลดีต่อบ้านเมืองต่อไป ซึ่งผู้ว่าฯเองจะพยายามไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจในทุกพื้นที่และช่วยเชิญชวนให้มีการขับเคลื่อนต่อไปอย่างยั่งยืน

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา