“สาวสุดช้ำถูกสามีบังคับขายตัว ทำร้ายร่างกาย” “สาวโพสต์รูปตัวเองถูกทำร้าย ใบหน้าปูดบวม” “หนุ่มบุกง้อขอคืนดีไม่สำเร็จ บุกซ้อมสาวกลางออฟฟิศ” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง บางรายถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน บางรายถึงขั้นถูกฆ่าตาย
เนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนัก และชี้ให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของผู้หญิงทั่วโลก รวมไปถึงป้องกันและขจัดปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงให้หมดสิ้นไป เช่นนั้นแล้วปัญหาสิทธิสตรีในสังคมไทย ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร มีเรื่องอะไรที่ต้องแก้ไขบ้าง เราลองไปดูพร้อมกันเลย
“ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักที่พบคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 พบว่าผู้หญิงซึ่งมีบทบาทเป็นทั้งแม่และเมีย หลายรายถูกทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ” เป็นมุมมองของ “นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ” รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.
นางสาวรุ่งอรุณ บอกว่า ความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงและเด็กได้รับ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักที่พบคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนอยู่บ้าน จนอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน ขาดรายได้ เมื่อมีปัญหาก็เริ่มมีการใช้ความรุนแรง ฝ่ายที่ถูกกระทำก็จะเริ่มเกิดความกลัว กระทบจิตใจและปัญหาก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันในต่างประเทศก็มีรายงานสถิติการหย่าร้าง ที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ด้วยนางสาวรุ่งอรุณ ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นตอของปัญหาสำคัญใน 4 มิติ ได้แก่
1.ด้านสุขภาพ ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอด เสี่ยงติดโควิดถึง 2.9 เท่า
2.ด้านอุบัติเหตุทางถนน กว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนน เกิดจากการ “ดื่มแล้วขับ” และจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล
3.ด้านเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 90,000 ล้านต่อปี
4.ด้านความรุนแรงในครอบครัว ที่มีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว
ด้าน “นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์” หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า จากสถิติความรุนแรงในครอบครัวในรอบครึ่งปี 2563 โดยการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 มีการนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 350 ข่าว ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น
แบ่งเป็นข่าวการฆ่ากันตาย 201 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 57.4 ข่าวการทำร้ายกัน 51 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 14.6 ข่าวการฆ่าตัวตาย 38 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 10.9 ข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว 31 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.9 ข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 2.9
นางสาวจรีย์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในรอบครึ่งปี 2563 เทียบกับปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ12 และปี 2559 สูงกว่าถึงร้อยละ 50 โดยในรอบครึ่งปี 2563 ข่าวอันดับ 1 ยังเป็นข่าวการฆ่ากันในครอบครัว เป็นข่าวสามีกระทำต่อภรรยาสูงถึง 65 ข่าว โดยมีมูลเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งหึงหวง ระแวงว่าจะนอกใจ ขัดแย้งเรื่องเงิน ทรัพย์สิน ปัญหาธุรกิจ โมโหที่ภรรยาขัดใจ ความเครียด เมาเหล้า ติดยาเสพติด รวมถึงมีอาการป่วย
ข่าวภรรยากระทำต่อสามี 9 ข่าว มีมูลเหตุมาจากถูกสามีทำร้ายร่างกายก่อน ความขัดแย้ง แค้นสามีนำเงินไปซื้อเหล้า หรือถูกสามีข่มขู่ ยิ่งไปกว่านั้นพบข่าวความรุนแรงทางเพศจากคนในครอบครัวสูงถึง 31 ข่าว เป็นข่าวการถูกข่มขืนโดยคนในครอบครัวสูงถึง 30 ข่าว และข่าวการอนาจารโดยคนในครอบครัว 1 ข่าว
สำหรับทางออกของปัญหา เพื่อหยุดการใช้ความรุนแรงต่อสตรีคือ ต้องสร้างวิธีคิดใหม่ ดังนี้
1.เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของทั้งพ่อและแม่ ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน ต้องมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาต้องพูดคุยหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
2.หน่วยงานภาครัฐต้องประชาสัมพันธ์ ช่องทางการให้ความช่วยเหลือที่เป็นมิตร ผู้ประสบปัญหาสามารถขอความช่วยเหลือได้
3.หน่วยงานภาครัฐควรสร้างทางเลือกการมีอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกงานให้พึ่งตนเองได้
4.คนในสังคมไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระงับเหตุได้ทัน
น.ส.เอ (นามสมมุติ) เล่าให้ฟังว่า ทำงานเป็นพนักงานเย็บผ้าโรงงาน ช่วงสถานการณ์โควิด–19 ได้รับผลกระทบถูกลดเวลาทำงานล่วงเวลาจนเงินไม่พอใช้ บางวันต้องเอาข้าวบูดที่เหลือมาล้างน้ำ อุ่นให้ลูกกินประทังชีวิต ส่วนสามีกินเหล้าทุกวันพอเมาก็จะทุบตี ด่าทอด้วยคำที่หยาบคาย ทำลายข้าวของ อยากฝากถึงหัวหน้าครอบครัว อยากให้ดูแลครอบครัวให้ดี มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือช่วยกันแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตามมา
จะเห็นได้ว่าผู้หญิงจำนวนมาก ยังคงตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันสตรีสากลประจำปี 2564 สสส. ขอร่วมรณรงค์ส่งเสริมและปกป้องสิทธิสตรี หยุดการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกรูปแบบ พร้อมเติมเต็มสิทธิสตรีให้สมบูรณ์ เพื่อสร้างสังคมไทยให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น