องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานภาคีที่สนับสนุน “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ต่อเนื่องมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับเด็กปฐมวัย พร้อมวางรากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์ที่มีความสำคัญในการปลูกฝังเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หวังส่งเสริมให้ครู ผู้ปกครองและเด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกห้องเรียนไปพร้อม ๆ กัน ถือเป็นการวางรากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำประโยชน์จากการเรียนรู้ไปดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้จริงในอนาคต
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “อพวช. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุน “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมาอย่างเข้มแข็งโดยมีการดำเนินจัดกิจกรรมเสริมศึกษานอกห้องเรียนโดยใช้รูปแบบและผลิตสื่อวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย อาทิ การนำกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยจากโครงการฯ มาเป็นกิจกรรมเสริมศึกษานอกห้องเรียนทั้งในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ คาราวานวิทยาศาสตร์ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ การพัฒนารายการโทรทัศน์ในชื่อ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ร่วมกับไทยพีบีเอส
โดยรายการนี้ผลิตขึ้นสำหรับเด็กในระดับปฐมวัย (อายุ 3-6ปี) เพื่อพัฒนากระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผลทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทยในอนาคต ซึ่งรายการนี้ยังได้รับรางวัลด้านรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ มากมายซึ่งการันตีคุณภาพและความยอดเยี่ยมของโครงการนี้ได้เป็นอย่างดี
โดยปัจจุบันมีจำนวนการเผยแพร่มากกว่า 700 ตอน และมีผู้ชมกว่า 100 ล้านคน ปัจจุบันออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 06.50 – 07.00 น. และสามารถรับชมเพิ่มเติมได้จากช่องทางออนไลน์ของ อพวช. นอกจากนั้น อพวช. ยังเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน “เทศกาลวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นประจำทุกปี รวมทั้งการผลิตและเผยแพร่คู่มือการดำเนินกิจกรรมวันนักวิทยาศาสตร์น้อย ไปยังโรงเรียนเครือข่าย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว และสร้างสีสันในการทำกิจกรรม ซึ่งสามารถขยายฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น และครูในโรงเรียนทั่วประเทศมากมาย พร้อมช่วยสร้างประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้ครูและเด็ก ๆ ได้ตั้งคำถาม และฝึกการสังเกตและหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งนี้ ยังได้ดำเนินการจัดพิธีรับตราพระราชทาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” โดยในแต่ละปีโรงเรียนได้นำกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเปิดโอกาสให้นักเรียนทำโครงงานตามแบบแนวทางบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ซึ่งโรงเรียนจะได้รับการประเมินผ่านเกณฑ์คุณภาพการจัดการเรียนรู้ เพื่อเข้ารับตราพระราชทานภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของทุกปีอีกด้วย”
สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังของ อพวช. ที่เป็นเสมือนผู้บุกเบิก และถือเป็นผู้ผลักดันและขับเคลื่อนหลักของโครงการนี้มาโดยตลอด คือ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในการร่วมคิดค้นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของ อพวช. (Senior Core Trainer) ในโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ อพวช. ที่มีบทบาทในการเป็นวิทยากรในโครงการฯ (Core Trainer) ได้แก่ นางสาวรักชนก บุตตะโยธี นางนันทิดา ศรีเปารยะ นางสาวเกศวดี อัชชะวิสิทธิ์ และนางสาววรภร ฉิมมี เป็นผู้ช่วยวิทยากร โดย นางทัศนา นาคสมบูรณ์ เป็นผู้ประสานงานโครงการฯ
ทั้งนี้ ทาง อพวช. ยืนยันว่าเราจะเป็นหนึ่งหน่วยงานที่ยังผลักดัน โครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ต่อไป ในการช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย รวมทั้งขยายโอกาสการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมวางรากฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กตั้งแต่วัยเยาว์ ได้มีส่วนร่วมกับพ่อแม่ และผู้ปกครอง ได้เห็นความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ และสามารถนำประโยชน์ที่ได้จากการเรียนรู้นี้ในการใช้ดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมได้จริงต่อไปในอนาคต