วันที่ 11 มี.ค.64 เวลา10.00น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มท. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม นริศรานุสรณ์ กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 โดยในที่ประชุม ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา และรับทราบผลการดำเนินการกำจัดผักตบชวา และวัชพืชในปีงบประมาณ 2563 ของ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ,กรมชลประทาน ,กรมเจ้าท่า ,กรมปกครองส่วนท้องถิ่น และกทม. ซึ่งมีผลการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช รวม 12.94 ล้านตัน และรับทราบรายงานจากกรมการปกครอง ซึ่งในภาพรวมมีความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน เป็นที่น่าพอใจ
คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ แนวทางการดำเนินการกำจัดผักตบชวาปีงบประมาณ.2564 โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือการเก็บใหญ่และการเก็บเล็ก เพื่อให้แต่ละพื้นที่มีผู้รับผิดชอบ อย่างชัดเจน จากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลางและภาคตะวันออก ปีงบประมาณ 2564 โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(GISTDA)
พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า ปัญหาผักตบชวา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง และพยายามแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบ เพื่อให้หมดไปจากประเทศไทย ทั้งการกำจัดและการนำไปแปรรูปใช้ประโยชน์อื่นๆ ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ มท. และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ให้เร่งดำเนินการโดยเน้นย้ำให้ใช้เครื่องมือ/เครื่องจักร/เรือ ที่ได้จัดหาแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า พร้อมกล่าวชื่นชม เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาด้วยความทุ่มเท และขอบคุณ ชมรมคนริมน้ำ ที่มีความเสียสละ ร่วมมือด้วยดี
นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาครั้งที่1/2564 กรมโยธาธิการและผังเมือง จะรับหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาธิการ โดยการประชุมในครั้งนี้มีการพูดคุยถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยในปีพ.ศ2564 จะใช้ภาพถ่ายของGISTDAในการชี้เป้าแหล่งน้ำที่มีปัญหามาก และเมื่อได้พิกัดที่แน่ชัดแล้ว จะมีการส่งต่อให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งมีการแบ่งภารกิจไว้อย่างชัดเจน และเรื่องที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่อง คือ การใช้สารจุลลินทรีย์ชีวพันธ์ในการกำจัดผักตบชนิดที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งศึกษาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และอยู่ระหว่างการรอขึ้นทะเบียน นอกจากนี้การนำผักตบชวาไปใช้ประโยชน์ ทำให้มีมูลค่า ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
————