รมว.แรงงาน ประชุมหารือหน่วยเกี่ยวข้องบูรณการขับเคลื่อนศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตอบโจทย์ความต้องการแรงงาน สร้างความมั่นใจนักลงทุนในพื้นที่อีอีซี
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Centre) ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี มีกรอบการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพการบริหาร ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้จัดตั้งจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยองเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 11 เม.ย.60 ให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และประมาณการความต้องการแรงงานในสาขาต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC
ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Centre) มีเป้าหมายหลัก 1)การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 2)เสริมสร้างความมั่นใจในด้านความพร้อมแก่นักลงทุน โดยศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีภารกิจในการบริบริการจัดหางาน ตรวจลงตราและอนุญาตทำงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน คุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้เตรียมความพร้อมข้อมูลพื้นฐานด้านแรงงานในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกโดยการเตรียมความพร้อมของกำลังคนตามความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งปัจจุบัน พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกมีสถานประกอบการ 37,296 แห่ง มีลูกจ้าง 1,549,976 คน มีความต้องการแรงงาน ณ เดือนกันยายน 61 จำนวน 14,767 อัตรา จากสถานประกอบการ 1,011 แห่ง แบ่งได้เป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ 969 อัตรา อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 681 อัตรา ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี – เชิงสุขภาพ 323 อัตรา แปรรูปอาหาร 496 อัตรา การบินและโลจิสติกส์ 506 อัตรา เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ 66 อัตรา ดิจิตอล 25 อัตรา การแพทย์ 33 อัตรา เบื้องต้นสาขาหุ่นยนต์และการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ยังไม่มีการเสนออัตราเข้ามา ส่วนแนวโน้มความต้องการแรงงานช่วง 5 ปี (2560-2564) ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะกลางและระยะยาวนั้นอยู่ที่ประมาณ 177,000 คน
การประชุมในวันนี้มีวาระสำคัญเพื่อรับทราบความก้าวหน้าเกี่ยวกับการบริหารแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังแรงงาน รวมทั้งการพิจารณาการตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และการบูรณาการระหว่างกระทรวงแรงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
—————————————-
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ