คปภ. ผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยของอาเซียนเป็นครั้งแรกของโลก ตั้งเป้าประกันภัยไมโครอินชัวรันซ์อุบัติเหตุ เคลมได้ทั่วอาเซียน • นำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2562
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในปี 2562 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 ภายใต้แนวคิดหลัก (Theme) “การเสริมสร้างหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)” โดยมี 3 ประเด็นหลัก (Chair’s priorities) ประกอบด้วย การเชื่อมโยง (Connectivity) ความยั่งยืน (Sustainability) และภูมิคุ้มกัน (Resilience) โดยสำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอแผนงานที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่อคณะกรรมการเตรียมการจัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุแผนงาน ASEAN micro insurance product เป็นข้อเสนอที่ต้องการผลักดันในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความยั่งยืน (Sustainability)” และสอดคล้องกับ AEC Blueprint 2025 ในส่วนยุทธศาสตร์ที่ A4: การรวมตัวภาคการเงินอีกด้วยและสำนักงาน คปภ. โดยสำนักงาน คปภ. ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ คปภ. ครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เรียบร้อยแล้ว
สำหรับแผนงาน ASEAN micro insurance product เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาตรฐาน สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองเดียวกัน และเบี้ยประกันภัยเท่ากัน สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ทุกที่ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาช่องทางการเสนอขายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด เช่น Mobile Application และช่องทางออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ จะเริ่มต้นจากกรมธรรม์ประกันภัยไมโครอินชัวรันซ์อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูก ความคุ้มครองไม่ซับซ้อน การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไม่ยุ่งยาก และสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการผลักดันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และมีบทบาทในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยสามารถดำเนินการได้ โดยการผลักดันใน 2 ระดับควบคู่กัน คือ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และความร่วมมือระหว่างสมาคมประกันภัยและบริษัทประกันภัยในแต่ละประเทศ
“แผนงาน ASEAN micro insurance product นี้ ถ้าสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งการเพิ่มมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับรวมและอัตราส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (penetration rate) แก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ขยายเครือข่ายการเชื่อมโยงระบบการประกันภัยและการประกันภัยต่อระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีความสามารถในการรองรับและบรรเทาความสูญเสียแก่บุคคลในครอบครัว ยกระดับความร่วมมือและการถ่ายทอดความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่ม CLMV โดยที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียนเคยมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนา ASEAN Insurance Product แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับช่องทางการเสนอขาย ซึ่งในขณะนั้นสามารถเสนอขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาช่องทางใหม่ เช่น ออนไลน์ หรือ Mobile Application จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยของอาเซียนฉบับแรกของโลก ถ้าสำเร็จก็จะสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยตัวอื่นๆของอาเซียนต่อไป สำนักงาน คปภ. จึงได้เสนอแผนงาน ASEAN micro insurance product เป็นข้อเสนอที่ต้องการผลักดันในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2562 นี้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย