วันที่ 5 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมอโยธยา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดฯ (ศปก.จ.อย) โดยมี นายประทีป การมิตรี ปลัดจังหวัด นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ พันเอก(พิเศษ) เพิ่มศักดิ์ ขุนโขลน รอง ผอ.รมน.จ. นายอำเภอ คณะกรรมการฯ หน่วยงานธนาคารกรุงไทย ประธานสภาการท่องเที่ยวจังหวัดอยุธยา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพื้นที่ ตลอดจนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้ได้รับช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว
โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผู้ติดเชื้อสะสม 58 ราย ซึ่งพบว่ารายที่ 58 เป็นลูกชายและอยู่อาศัยบ้านเดียวกับรายที่ 56 เชื่อมโยงกับจังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ จังหวัดได้ส่งทีมสาธารณสุขเข้าดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุกจุดเสี่ยง 4 แห่ง รวม 2 พันกว่าราย ไม่พบผู้ติดเชื้อ และยังคงตรวจค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและสกัดกั้นไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น รวมถึงซักซ้อมคำสั่งจังหวัดฯ ที่ 489/2564 ออกข้อกำหนดมาตรการผ่อนคลายตาม ศบค. ในส่วนความคืบหน้าการจัดทำผังแผงค้าของตลาด และการลงทะเบียนชื่อผู้ค้า มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการการบริหารจัดการป้องกันและควบคุมโรค
ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับการฉีดวัคซีนให้บุคลากรกลุ่มเสี่ยงตามแผนการให้วัคซีนของกรมควบคุมโรคล็อตแรกแล้ว ด้านการควบคุมการจำหน่ายหน้ากากอนามัย ผู้ค้าต้องแสดงราคาจำหน่ายให้ชัดเจน โดยกำหนดราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ในส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ บวกได้ไม่เกิน60%ของต้นทุน ในส่วนฝ่ายปกครอง ได้รายงานการป้องกันไม่พบการลักลอบนำแรงงานเข้าพื้นที่ ตรวจพบจับกุมการเล่นการพนัน 1 เคส และไม่พบบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุดเข้ามาในพื้นที่ โดยขอให้ นายอำเภอ กำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ออกตรวจตราประชากรในพื้นที่บันทึกข้อมูลในการเดินทางในพื้นที่เสี่ยง และสอดส่องครอบครัวใดที่ได้รับความเดือดร้อนผลกระทบที่รุนแรง ให้เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นและรายงานจังหวัดทราบเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาในอนาคต
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้ผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 โครงการเราชนะ สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน เปิดรับลงทะเบียนด้วย “บัตรประชาชน” ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.- 5 มี.ค.64 ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา และจุดบริการที่เพิ่มเติม มีเป้าหมายจำนวน 23,464 คน ขณะนี้ได้ดำเนินการลงทะเบียนสำเร็จแล้ว จำนวน 19,417 ราย ปัญหาอุปสรรคที่พบคือไม่มีสมาร์ทการ์ด ซึ่งจะได้ดำเนินการลงพื้นที่ไปจัดทำให้สำหรับผู้ต้องการความช่วยเหลือต่อไป สำหรับการลงทะเบียนโครงการ “ม33 เรารักกัน” เพื่อรับเงินเยียวยา 4,000 บาท โดยเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www. ม33เรารักกัน .com ในวันที่ 21 ก.พ. – 7 มี.ค. 64 จากนั้น จะตรวจสอบข้อมูล และให้ผู้ประกันตน ยืนยันตัวตน ระหว่างวันที่ 15 – 21 มี.ค. 64 เป็นลำดับต่อไป
ด้านความมั่นคง ขอให้หน่วยงานของราชการและรัฐวิสาหกิจ ได้ตรวจตราสถานที่และจัดเก็บรักษาทรัพย์สินสำคัญ อาทิ พระบรมฉายาลักษณ์หรือสถาบันหลักของชาติไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการกระทำอันไม่เหมาะสม สำหรับ กรณีบริษัท ห้างร้านเอกชน ประสงค์จะขอจัดตั้งสถานที่กักกันของตนเอง ให้จัดทำข้อมูลยื่นที่สาธารณสุขจังหวัดฯ เสนอคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อฯ นำทีมไปประเมินก่อนส่งกรมควบคุมโรคพิจารณาต่อไป
นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ถึงแม้สถานการณ์โรคโควิด -19 ของจังหวัดฯ ควบคุมได้ ทั้งนี้ ยังคงให้นายอำเภอ กำชับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ออกตรวจติดตามกิจการต่าง ๆ ที่ให้ปิดและได้รับการผ่อนคลายมาตรการให้ดำเนินการตามแนวทางของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และช่วยสอดส่องครอบครัวใดที่ได้รับความเดือดร้อนผลกระทบที่รุนแรง ให้เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นและรายงานจังหวัดทราบเพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาในอนาคต พร้อมยังคงมาตรการสำคัญคือ การสวมหน้ากากอนามัย ลงทะเบียนผ่านแอปฯไทยชนะควบคู่กับการโหลดแอปฯ “หมอชนะ” ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 โดยจังหวัดฯ เตรียมจัดงานวันมวยไทย นายขนมต้ม ครั้งที่ 17 ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ภายใต้วิถึท่องเที่ยวใหม่ New Normal เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติต่อครูมวยไทย และสืบสานศิลปะป้องกันตัวของไทย ซึ่งชาวพระนครศรีอยุธยาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นายขนมต้ม ไว้ที่บริเวณสนามกีฬากลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา