กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย นำโดย นางสาววัชรีวรรณ กันเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย จัดการประชุมประสานแผนการดำเนินงาน ของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน สำนักงาน กศน. โดยมี ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุม ในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ได้กล่าวมอบนโยบายศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน ภายใต้กรอบการดำเนินงาน ทั้ง 4 ด้าน ในการประชุมประสานแผนการดำเนินงาน ของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน (ศฝช.) สำนักงาน กศน. ได้แก่
1) บทบาท ภารกิจ โครงการ กิจกรรม แผนการดำเนินงานของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน
2) แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนที่สะท้อนทิศทางในอนาคต ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
3) การส่งเสริม สนับสนุน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับประชาชนบริเวณชายแดน
4) การพัฒนาศักยภาพและทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy & Digital Skills) ของบุคลากรใน ศฝช.และประชาชน พร้อมขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา โครงการ โคก หนอง นา โมเดล ตามแนวทางพระราชดำริ ให้ขยายผลลงสู่ ศฝช. ทั่วประเทศอย่างจริงจังและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.วรัท กล่าวว่า ศฝช. ทั่วประเทศได้จัดการศึกษา ฝึกอบรมและเป็นศูนย์สาธิตการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทดลอง วิจัย และเป็นศูนย์การเรียนต้นแบบการจัดกิจกรรมตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา มีเป้าหมายให้ประชาชนบริเวณชายแดนอยู่อย่างมีสุข มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ซึ่งในยุคศตวรรษที่ 21 คนในยุคนี้ จำเป็นต้องพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพ โดยอาศัยการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง ศฝช.ทุกแห่ง มีแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ให้เรียนรู้และสามารถพัฒนาสังคม ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้
นอกจากนี้ ศฝช.ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์สาธิต ทดลอง วิจัย และที่อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญ คือ จัดการศึกษาโดยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นระบบการจัดการและพัฒนากำลังคน รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะความรู้ ความสามารถของบุคลากรให้มีความพร้อมรองรับเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากร ศฝช. และประชาชนในกลุ่มเป้าหมาย ให้เกิดทักษะความเข้าใจและสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการสื่อสาร การปฏิบัติงาน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประชาชนมีความรู้ความเข้าใจสามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอีกประการที่สำคัญยิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาเร่งด่วน คือ เรื่องการปรับปรุงอาคาร สถานที่ เนื่องจากขณะนี้ได้รับรายงานว่า ศฝช.หลายแห่ง ชำรุด ทรุดโทรม ซึ่งจะมีการพิจารณางบประมาณ และติดตามการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป