วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) คณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เสนอวาระเร่งด่วน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 525 เสียง และเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … จำนวนทั้งสิ้น 49 คน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้นำเสนอที่ประชุมร่วมของรัฐสภาถึงที่มาและความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ทั้งในชั้นของการดำเนินงานของหน่วยงานเจ้าของเรื่องและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบในหลักการของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และได้มีมติรับทราบการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอ
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … เป็นหนึ่งในกฎหมายเพื่อการปฏิรูประบบวิจัย นวัตกรรมของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐไปใช้ประโยชน์ และช่วยแก้ปัญหาการตกลงเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับผู้รับทุน โดยกำหนดให้ผู้รับทุนสามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นได้ และเมื่อหน่วยงานผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยให้ Startup และ SME สามารถรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดจำนวน Startup และ SME ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมได้ อีกทั้งยังช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัย ผลิตผลงานวิจัยฯ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคผลิตและบริการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ด้วยคะแนน 525 เสียง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้แถลงสรุปหลังการอภิปราย โดยได้ขอบคุณสมาชิกรัฐสภาผู้อภิปรายทุกท่านที่สนับสนุนพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และจะรับประเด็นที่สมาชิกสภาอภิปรายไปดำเนินการต่อในคณะกรรมาธิการวิสามัญ สำหรับข้อห่วงใยต่างๆ เช่น การสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้วิจัย การสร้างให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจฐานราก อว. จะนำไปดำเนินการต่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวในเรื่องกฎหมายลำดับรอง กระทรวงกำลังดำเนินการยกร่างควบคู่กันไปอยู่แล้ว
สำหรับ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….” กระทรวง อว. โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ดำเนินการจัดทำโดยมีหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ประกอบด้วย
1. ให้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ ให้เป็นของผู้รับทุน ซึ่งได้แก่ สถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัย เป็นส่วนใหญ่
2. หน่วยงานให้ทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายฉบับนี้ มีอยู่ 7แห่ง ได้แก่ หน่วยงานให้ทุนภายใต้กระทรวง อว. จำนวน 5 แห่ง และภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 แห่ง (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก.) และ กระทรวงสาธารณสุข 1 แห่ง (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส.)
3. กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช้บังคับกับ การวิจัยเพื่อพัฒนาหน่วยงาน, การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศ, การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวม ซึ่งไม่สมควรตกเป็นของผู้ใดผู้หนึ่งเป็นการเฉพาะ และ การวิจัยและนวัตกรรมที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
4. หน่วยงานผู้รับทุนจะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมยื่นแผนการใช้ประโยชน์ ขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม แก่หน่วยงานให้ทุนเพื่อออกหนังสือรองรับสิทธิความเป็นเจ้าของให้แก่ผู้รับทุน
5. ผู้รับทุนที่ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ แล้ว จะต้องใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี และต้องรายงานผลการใช้ประโยชน์ให้หน่วยงานผู้ให้ทุนทราบ
6. หากผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ ไม่ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะตกกลับมาเป็นของหน่วยงานให้ทุน
7. หากผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ ไม่ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี และมีผู้ต้องการขอใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้น จะมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นผู้ออกคำสั่งให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไปยังผู้ขอใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นได้
8. รัฐยังคงมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นได้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย
9. ในภาวะสงครามหรือในภาวะฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็น เพื่อการเยียวยาด้านสาธารณสุข หรือความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ หรือมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐยังคงสงวนสิทธิเพื่อการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้โดยอนุมัติของรัฐมนตรี