ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 นับเป็นปัญหามลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสังคม แทบทุกพื้นที่มา อย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นและแก้ไขได้ยาก คือ พฤติกรรมการเผาป่าเผาไร่ของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งนับเป็น ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของพวกเขามาอย่างยาวนาน
ที่อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทราก็เช่นกัน ประชากรของที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือทำนาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่แหล่งน้ำเข้าถึง สามารถทำนาได้มากถึง 3 รอบ/ปี และยังเป็นแหล่งของข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี สมดังคำขวัญ ประจำอำเภอ ที่ว่า “อำเภอราชสาส์น ตำนานเมืองเก่า ใบโพธิ์สีขาว ข้าวหอมมะลิ” ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ชาวนาจึงเลือกวิธีเตรียมดินที่สั้นที่สุด คือ กำจัดตอซังด้วยการเผา เพราะใช้เวลาสั้น และลดต้นทุนการผลิตได้มาก ด้วยค่าเช่าที่นาเฉลี่ย 1,000 บาท/ไร่/ปี
นอกจากนี้ ชาวนายังมีความเข้าใจว่า การเผาส่งผลดีต่อการกำจัดวัชพืชและข้าวด้อยคุณภาพ (ข้าวดีด) แต่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล 4-5 ปี และการเผานั้นยังช่วยลดต้นทุน เหลือเงินเก็บมากขึ้น เมื่อเกิดการเผามาก ๆ ก็ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือ PM2.5 มากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2563 ที่พบปริมาณ PM2.5 อย่างหนักจนเกิดการร้องเรียนขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของราชสาส์นโมเดล เพื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อำเภอราชสาส์น ภายใต้โครงการไม่เผา เราทำได้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับชาวนา ในการไม่เผาไร่นา เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งหาวิธีการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของพวกเขา ด้วยความเชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายกับชาวนาไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการสร้างความเข้ารู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีชาวนาเข้าร่วมลงนามสัตยาบันว่าจะหยุดเผาแล้วกว่า 600 ครัวเรือน
นางสาวไพลิน กิตติคุณ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอราชสาส์น กล่าวว่า จุดแข็งหรือข้อดีของราชสาส์นโมเดล คือ การลงพื้นที่เพื่อไปรับฟังปัญหาของเกษตรกรอย่างจริงใจ ไม่ใช่เพียงนำข้อมูลหรือสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ หรือเปลี่ยนแปลงไปบอกเขา แต่จะต้องเข้าใจปัญหา และวิถีชีวิตที่แท้จริงของพวกเขาด้วย จึงจะทำให้การแก้ปัญหานั้นเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทำให้ได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรมากขึ้น เพราะพวกเขาเกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการหยุดเผา แล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีไถกลบแทน นอกจากจะช่วยลดพิษทางอากาศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่า และลดต้นทุนการผลิตด้วย
ข้อดีของการไถกลบตอซัง
1.เพิ่มไนโตรเจน ฟาง 1 ตัน มีไนโตรเจน 6 กก. จึงสามารถใช้ฟางแทนปุ๋ยไนโตรเจนได้บางส่วน
2.เพิ่มธาตุอาหารอื่นๆ จะแสดงผลชัดเจนในปีที่สองของฤดูกาลทำนา โดยให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
3.ฟื้นฟูโครงสร้างดิน ปริมาณเนื้อดิน อินทรียวัตถุ น้ำ อากาศ ปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน ทำให้อยู่ในระดับที่เป็นกลางเพิ่มมากขึ้น
4.พลิกให้รากวัชพืชขึ้นมาตากแดดแห้งตาย
5.พืชเจริญเติบโตหาอาหารได้ง่าย
6.เพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน
7.ช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยการไม่เผาตอซัง
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การเผาในที่โล่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในหลายพื้นที่อย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรง โครงการนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อหาวิธีการทดแทนการเผา ช่วยให้ประชากรในพื้นที่ได้ใช้ชีวิตโดยได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศน้อยที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นที่ สสส. ให้ความสำคัญ โดยถือว่าเราเป็นคนทำงานที่จับมือกับชาวบ้านในการช่วยเกื้อหนุนให้ทางเลือกที่เหมาะสมในการทำกสิกรรมที่เป็นมิตรต่อทุกคน
การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดจึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เกิดการตระหนักถึงภัยร้ายของมลพิษทางอากาศ โดยใช้ความสามารถของผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือ Prime Mover ในด้านความคิด การพัฒนา ส่งเสริมให้มีการสื่อสารและร่วมมือแก้ปัญหาคู่กับภาคเอกชน หรือบรรษัทบริบาลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม แก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติอย่างยั่งยืน
เราทุกคนต้องการอากาศสะอาด เพราะอากาศเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตของคนเรา เป็นสิ่งที่เราสูดหายใจเข้าไปทุกวัน ปัญหามลพิษทางอากาศ จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ทุกคนจะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันแก้ไข ซึ่งเริ่มต้นได้ที่ตัวของเรา ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการเผา รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น
สสส. เชื่อว่าการเริ่มต้นที่ตัวเรา แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในสังคม แต่หากทุกคนร่วมมือกัน จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ สามารถแก้ไขทุกวิกฤตให้ผ่านพ้นไปได้อย่างยั่งยืน
………………………………
ที่มา www.thaihealth.or.th