รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวอรุณี พูลแก้ว) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ซึ่งเป็นการประชุมสำคัญครั้งสุดท้ายในปีนี้ก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลการดำเนินการที่ผ่านมาตลอดทั้งปีของเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อให้ข้อสั่งการสำหรับเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป ซึ่งหัวข้อหลักของการหารือในปี 2561 คือ “การสร้างโอกาสอย่างครอบคลุมเพื่อเปิดรับอนาคตทางดิจิทัล (Harnessing Inclusive Opportunities, Embracing the Digital Future)” เพื่อให้เอเปคเป็นภูมิภาคที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถรับมือกับสถานการณ์การค้าและการลงทุนที่มีพลวัตสูง ซึ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในทุกภาคส่วน
นางสาวอรุณี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางความร่วมมือของสมาชิกในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนตามเป้าหมายโบกอร์ เพื่อปูทางไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) โดยได้มีการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสมาชิกในการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนโดยสมัครใจตามแผนงานที่แต่ละประเทศได้กำหนดไว้ เช่น อัตราภาษี MFN เฉลี่ยในเอเปคลดลงจากร้อยละ 16.9 ในปี 2532 ที่เอเปคก่อตั้ง เป็นร้อยละ 5.3 ในปี 2560 และมีการลดอุปสรรคที่กีดกันนักลงทุนต่างชาติและเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักลงทุน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสและรับมือกับความท้าทายในการค้ายุคใหม่ อาทิ ประเด็นเรื่องรัฐวิสาหกิจ แรงงาน สิ่งแวดล้อม นโยบายการแข่งขัน การเพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี ผ่านการใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ตลาดโลกและเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองหลักการทั่วไปว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีของเอเปค สำหรับเป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการที่มิใช่ภาษีซึ่งสอดคล้องกับความตกลง WTO เพื่อสร้างความโปร่งใส และยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าโลก โดยเห็นว่าเอเปคต้องให้ความสำคัญและยึดมั่นกับระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์การค้า (Rules-based) เพื่อลดผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการแบบฝ่ายเดียว และให้ระบบมีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้
นางอรุณี กล่าวเสริมว่า ไทยให้ความสำคัญกับเอเปคในฐานะที่เป็นเวทีสำคัญต่อการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการกำหนดกฎเกณฑ์และนโยบายที่ส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับธุรกิจในทุกระดับ การประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยในการหารือแลกเปลี่ยนกับสมาชิกเอเปคเกี่ยวกับนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความพร้อมสำหรับโอกาสและ
ความท้าทายทางการค้าและการลงทุนในศตวรรษที่ 21
เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สังคม และระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยในปี 2560 เอเปคมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มูลค่า 47.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59 ของ GDP โลก และมีประชากรรวม 2.9 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 39 ของประชากรโลก และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยการค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 319,661 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 70 ของการค้ารวมของไทย โดยเป็นการส่งออก 164,217 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกรวมของไทย และการนำเข้า 155,444 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69 ของการนำเข้ารวมของไทย
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ