พร้อมเปิดรับสมัครงานแก่ลูกหลานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากณ์โรคโควิด-19 รวม 24 อัตรา ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 24 กุมภาพันธ์ ศกนี้ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 น. ที่ ห้องวังจุฬา ชั้น 2 อาคารที่ทำการโรงไฟฟ้าวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายวิเชียร จูห้อง นายอำเภอวังน้อย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจการสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าวังน้อย ครั้งที่ 1/2564 พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ และคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม โดยมี นายณรงค์ ไตรกิจวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าวังน้อย และเจ้าหน้าที่ เป็นฝ่ายเลขานุการฯ และรายงานผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าวังน้อย ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่ระบุในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าวังน้อย
โดยประธานฯ ได้ประชาสัมพันธ์การเปิดรับสมัครงานแก่ลูกหลานในพื้นที่ชุมชุนโรงไฟฟ้าวังน้อย โครงการ “พลังงานร่วมใจ สร้างงาน พัฒนาชุมชน” ของรัฐบาล ครั้งที่ 2 สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาปี 2562 – 2563 รับสมัครผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15 – 24 กุมภาพันธ์ 2564 www.egat.th/newjobber เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19
โดยที่ประชุมได้รับทราบสรุปผลการดำเนินงานในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2563 ในส่วนของปริมาณการผลิตไฟฟ้า ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า และอัตราความร้อนที่ใช้ต่อหน่วยไฟฟ้า มีผลดำเนินการได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ สำหรับด้านเศรษฐกิจ สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 28 กิจกรรม อาทิ งดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาสวาย จำนวน 99,999 ตัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม นำผู้ปฏิบัติงานและลูกจ้างโรงไฟฟ้าวังน้อย ร่วมบริจาคโลหิตให้แก่เหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ โรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ และจัดพิธีมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าวังน้อย ประจำปี 2563 เป็นต้น
พร้อมนี้ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งหมด 7 ด้าน ประกอบด้วย คุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป คุณภาพอากาศที่ระบายออกจากปล่อง ระดับเสียง คุณภาพน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำใต้ดิน และนิเวศวิทยาแหล่งน้ำ ทั้งนี้ ภาพรวมผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมพบว่าส่วนใหญ่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน