กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจัดทำแผนบูรณาการด้านการศึกษาเพื่อให้สามารถบริหารในทุกด้าน ของการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและคุณภาพของโรงเรียนในทุกด้าน โดยมอบหมายให้ นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการในจังหวัดเชียงใหม่ ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ. 11/2564 ลงวันที่ 7 มกราคม 2564 เรื่อง การบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 687 แห่ง บางโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบและพื้นที่สูง ซึ่ง สพฐ. ได้เสนอชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 12 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนคุณภาพของชุมชน (จำนวน 6 แห่ง) โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง (จำนวน 1 แห่ง) และโรงเรียน Stand Alone (จำนวน 5 แห่ง) ในการขับเคลื่อนงานการบูรณาการ ด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยนายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ได้วางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบและชัดเจนในการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านการศึกษา มีการลงดูสภาพจริงของโรงเรียนหลัก และโรงเรียนเครือข่ายโดยรอบ มีการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีการติดตามนโยบายการบูรณาการด้านการศึกษา และเมื่อเร็วๆนี้ นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ได้ประชุมเพื่อมอบนโยบาย วางแผนการทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1-6 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และรับฟังแนวทางการบริหารโรงเรียนคุณภาพของชุมชนทั้ง 3 รูปแบบ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2567 ณ ห้องประชุมล้านนา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 และลงพื้นที่ดูสภาพจริงโรงเรียนคุณภาพของชุมชน “โรงเรียนบ้านดอนปิน” สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นของ ผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้นำท้องถิ่น คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน ภาคีเครือข่าย และชาวบ้านในชุมชน เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกด้านให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อไป
นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ได้ขับเคลื่อนงานตามแผนที่วางไว้ โดยลงดูสภาพพื้นที่ของโรงเรียนด้วยตนเองและติดตามการขับเคลื่อนงานอย่างเคร่งครัด ในการนี้ได้มอบหมายให้คณะทำงานการบูรณาการด้านการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่เพื่อจัดทำข้อมูลและขับเคลื่อนการดำเนินการบูรณาการด้านการศึกษาที่เป็นไปตามแนวทางโรงเรียนคุณภาพตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวคือ ด้านกายภาพที่สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนหลักที่ให้โรงเรียนอื่นมาเรียนรวมได้ พื้นที่ของโรงเรียนที่มีความเหมาะสม ความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมสะดวกสบาย ด้านผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ด้านครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ตระหนักให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านภาคีเครือข่าย ชุมชนเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาเป็นอย่างดี