วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 17.00 น. ณ ลานหน้าวัดพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางนวลจันทร์ แย้มศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา ประธานในพิธีเปิดการแสดง “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม” มีแขกผู้มีเกียรติ ปลัดกระทรวง หัวหน้าหน้าส่วนราชการ มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ รูปแบบกิจกรรมเป็นการจัดแสดงดนตรี “เพลงสมัยอยุธยา”
โดย วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Thai Symphony Orchestra) ควบคุมวงโดย พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์ มีศิลปินแห่งชาติ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่านบทกวีอยุธยา และ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป่าขลุ่ยเคล้าบทกวี พร้อมนักร้องร่วมการแสดงเพลงชุดโบราณ ได้แก่ เพลงต้นวรเชษฐ์ เพลงสุดใจ เพลงสายสมร ในส่วนการแสดงเพลงชุดฝรั่ง อาทิ เพลงฝรั่งยี่เฮ็ม เพลงฝรั่งรำเท้า และการแสดงเพลงเดี่ยวร่วมกับวงออร์เคสตร้า อาทิ เพลงค้างคาวกินกล้วย เป็นต้น
โดยมีฉากหลังเป็นวัดพระราม ซึ่งทำให้ผู้ฟังเสียงเพลงได้สัมผัสมิติของความเคลื่อนไหวและมีชีวิต พลังของเสียงเพลงจะสร้างมโนภาพให้เกิดขึ้น เพื่อมองย้อนกลับไปในบรรยากาศโบราณ “วัดพระราม” พร้อมจินตนาการภาพของกรุงศรีอยุธยาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตามเสียงที่ได้ยิน ทั้งนี้ ยังถือโอกาสเชิญชวนให้ชมความงามของการส่องไฟโบราณสถานด้วย
การจัดแสดง “เสียงอดีตสร้างจินตนาการภาพโบราณ เล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม” ในวันนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา คณะอนุกรรมาธิการด้านศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนจัดกิจกรรมเล่นเพลงอยุธยาที่หน้าวัดพระราม วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านสมัยอยุธยาและพัฒนาให้คงอยู่ในบริบทที่สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผ่านการบันทึกเสียงและบันทึกเป็นโน้ตสากล เรียบเรียงใหม่และบรรเลงโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา จัดแสดงให้เข้าชมในจำนวนที่นั่งตามข้อกำหนดการป้องกันโควิด-19 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ดนตรีพื้นบ้านถือเป็นอัตลักษณ์ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และความเป็นไปของสังคม สามารถบ่งบอกร่องรอยประวัติศาสตร์ของชุมชน สถาปัตยกรรม วรรณคดี ความเชื่อและประเพณีของชุมชน ผ่านเสียงดนตรีพื้นบ้าน เนื้อเพลงที่ขับร้อง สื่อผ่านภาษาพูด สำเนียงพูด ประเพณีและพิธีกรรมของชุมชน
ทว่าดนตรีพื้นบ้านที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกำลังจะถูกลืมเลือนหายไปจากชุมชนตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านไม่สามารถสร้างรายได้ และไม่ตอบสนองพฤติกรรมด้านความเป็นอยู่หรืออาชีพในระบบทุนนิยม
ดังนั้น วช. จึงได้สนับสนุนการวิจัยภายใต้ “โครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน” และ “โครงการขยายผลต่อยอดนวัตธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ” แก่ “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข”
ซึ่งดำเนินการโดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งใหม่บรากฐานสิ่งเก่า เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ของสังคมไทยให้สืบทอดและคงอยู่ต่อไป