เลี่ยง NCDs ลดเสี่ยงมีอาการรุนแรงหากติด COVID-19

รู้หรือไม่ว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ

กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ ชื่อภาษาไทยเรียกว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นั้นเป็นชื่อเรียก กลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือ ติดต่อ ผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่างๆ หากแต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) หรือ NCDs หากติด COVID-19 แล้วเสี่ยงมีอาการรุนแรง ได้แก่

1.โรคเบาหวาน

2.โรคความดันโลหิตสูง

3.โรคหลอดเลือดสมอง

4.โรคหัวใจ

5.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

6.โรคไตวายเรื้อรัง

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า คนที่เป็นโรคที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้ป่วยเบาหวาน ต้องควบคุมน้ำตาลดีๆ แต่คนจำนวนไม่น้อยเมื่อเป็นเบาหวานแล้วจะมีความเปลี่ยนแปลงในหลอดเลือด มีโอกาสทำให้ภูมิคุ้มกันไปจัดการกับเชื้อไวรัสโควิดได้น้อยลง ยังไม่นับรวมไปถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่ศักยภาพในการทำหน้าที่ลดลงไปด้วย

“สังเกตจากคนที่เป็นเบาหวานนานๆ หรือเป็นขั้นหนัก จะพบว่า ปอดทำงานได้น้อยลง ตับทำงานได้น้อยลง เป็นต้อกระจก สิ่งเหล่านี้จะถูกทำลายจากเชื้อไวรัสบ้างบางส่วน นอกจากนี้ ในกรณีที่ติดเชื้อโควิด-19  รุนแรง ไม่เพียงทำลายปอด แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตเพราะอาการไตวาย เลือดไม่ไปเลี้ยงแขนขา เพราะความรุนแรงของไวรัส ไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย ไม่เพียงปอดอย่างเดียว โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วม เมื่อเจอเชื้อไวรัสจะยิ่งทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น”  ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

กลุ่มโรค NCDs สามารถป้องกันได้ เพราะสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงหลักนั้น เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเรานั่นเอง นั่นคือ

1.รับประทานอาหารหวานมันเค็มจัด

2.ขาดการออกกำลังกาย

3.ความเครียด

4.การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5.การสูบบุหรี่

ซึ่งหากเราสามารถลด หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นการลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นกลุ่มโรค NCDs ได้ มากถึง 80% เลยทีเดียว แน่นอนว่าการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา สสส. รณรงค์ให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs โดยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลี่ยง หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ในมื้ออาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดปัจจัยเสี่ยงอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า จากนี้เป็นต้นไป อะไรที่ทำให้สุขภาพแย่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ต้องรอให้เกิดโรค หรือติดเชื้อแล้วจึงมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม นอกจากนี้ ยังต้องหมั่นศึกษาองค์ความรู้ของเชื้อไวรัสเพื่อให้รู้เท่าทันโรค หรือวิธีรับมือเมื่อเกิดการระบาดขึ้น  เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่เริ่มต้น

สิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ปกปิดข้อมูล และสแกนไทยชนะ  นอกจากจะช่วยป้องกัน COVID-19 แล้ว  ยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ อีกด้วย

…………………………………….

ที่มา www.thaihealth.or.th