การเคหะแห่งชาติมุ่งพัฒนาชุมชนให้ครอบคลุมในทุกมิติ เดินหน้าสำรวจผู้อยู่อาศัยในชุมชน เพื่อจัดทำดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม 2561 ปรากฏว่าดัชนี ทั้ง 3 ด้าน มีค่า 56.8 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางและสูงกว่าดัชนีรวมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย จึงได้ดำเนินโครงการ “ดัชนีเศรษฐกิจชุมชน (CEI : Community Economic Index)” เพื่อติดตามและประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมของครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ และเพื่อเปรียบเทียบการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับชุมชนอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม 2561 การเคหะแห่งชาติได้ติดตามประเมินผลข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และที่อยู่อาศัยของครัวเรือนผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติ และชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ ซึ่งได้สำรวจตัวอย่างครัวเรือนผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ปรากฏว่า ผลการประเมินดัชนีรวมทั้ง 3 ด้าน มีค่าดัชนีเท่ากับ 56.8 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางและสูงกว่าดัชนีรวมของชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่า 40.6 (ค่ากลาง = 50)ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนที่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการอยู่อาศัยมีสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่สูงกว่าค่ากลางหรือค่ามาตรฐาน ในขณะที่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ มีค่าต่ำกว่า ค่ากลาง โดยมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
ดัชนีด้านเศรษฐกิจ ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าดัชนีด้านเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 54.2 สูงกว่าครัวเรือนที่อาศัยในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าดัชนี 38.1 เนื่องจากครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในโครงการของ การเคหะแห่งชาติมีการเติบโตและมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจสูงกว่าครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสะท้อนได้จากการมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน และครัวเรือนมีการออมทรัพย์
ดัชนีด้านสังคม ครัวเรือนที่อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าดัชนี 54.3 สูงกว่าครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 44.9 เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีการส่งเสริมให้ชุมชนมีการทำกิจกรรมเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อความสามัคคีและชุมชนสามารถพึ่งพากันได้
และดัชนีด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ครัวเรือนที่อยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติมีค่าสูงถึง 62.0 ในขณะที่ครัวเรือนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีค่าเพียง 38.9 เนื่องจากครัวเรือนในโครงการของการเคหะแห่งชาติส่วนใหญ่มีการดูแลรักษาสภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในโครงการอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาแนวโน้มของดัชนีทางด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนโครงการของการเคหะแห่งชาติกับดัชนีทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอื่นๆ พบว่า ไตรมาสที่ 4 (เดือนตุลาคม 2561) ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 (เดือนกรกฎาคม 2561) จาก 54.0 เป็น 54.2 ซึ่งมีทิศทางและแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค (CCI) และดัชนีเศรษฐกิจฐานราก (GSI) เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลได้ส่งเสริมโครงการสวัสดิการแห่งรัฐทั้งในเรื่องการสร้างโอกาสทางอาชีพเพิ่มรายได้ การเปิดตลาดประชารัฐภายในชุมชน รวมทั้งมีการลดค่าครองชีพราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงสินค้าจำเป็นภายในครัวเรือนได้ จึงส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจกลุ่มรายได้น้อย ระดับชุมชน และระดับฐานรากปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4