‘พาณิชย์’ ยัน FTA อาเซียน-จีน ช่วยขยายโอกาสในการค้าขายให้กับไทย ทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า ทั้งการส่งออกและนำเข้าตลอดระยะเวลา 15 ปี ชี้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนกว่าร้อยละ 70 เป็นการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ มาผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกต่อ ย้ำหากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากสินค้าจีน สามารถยื่นขอให้ใช้มาตรการดูแลได้
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน (ACFTA) ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีน และมีสินค้าราคาถูกของจีนทะลักเข้ามาขายในไทยว่า กรมฯ ได้มีการตรวจสอบสถิติการค้าระหว่างไทย-จีน หลังจากที่ได้มีการจัดทำ FTA อาเซียน-จีน ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 พบว่ามูลค่าการค้าได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากมูลค่า 11,691 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 73,745 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5.3 เท่า โดยเป็นการส่งออกของไทยไปจีนมูลค่า 29,506 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24 จากปี 2559 และการนำเข้าจากจีน มูลค่า 44,239 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากปี 2559
ส่วนในช่วง 9 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่าการค้าอยู่ที่ 59,154 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไปจีน 22,247 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 36,907 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 เป็นสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และสินค้าวัตถุดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ ผ้าผืน ซึ่งไทยนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตต่อเป็นสินค้าสำเร็จรูปทั้งใช้ภายในประเทศและส่งออกต่อ ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยในภาพรวม และส่งเสริมศักยภาพการเป็นห่วงโซ่คุณค่าของไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค
“การค้าไทย-จีน ผ่าน FTA อาเซียน-จีน ช่วยขยายการส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา โตถึงร้อยละ 530 ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบธุรกิจและผู้ส่งออกของไทยอย่างมาก และแม้ว่าการนำเข้าของไทยจากจีนในช่วง 15 ปี ที่มี FTA อาเซียน–จีน จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของไทย” นายดวงอาทิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการไทยมีความกังวลว่าสินค้านำเข้าจากจีน จะก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ก็สามารถขอให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศพิจารณาใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และมาตรการต่อต้านการอุดหนุน (Countervailing Measures: CVD) กับสินค้าที่ทะลักเข้ามา เพื่อเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าจากจีนได้
นายดวงอาทิตย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปจีน เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนนั้น ในปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าการส่งออกไปจีนไว้ที่ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 12 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนที่จะบุกเจาะตลาดรายมณฑล เพื่อขยายการค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ของจีน นอกเหนือจากพื้นที่ตลาดหลักเดิมอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว โดยจะเจาะหัวเมืองด้านในที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น อาทิ เฉิงตู ฉงชิ่ง และซีอาน รวมทั้งเมืองท่าสำคัญอย่าง ชิงต่าว และเซี่ยะเหมิน และมณฑลด้านตะวันตกของจีน ที่มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับตลาดยุโรป ตามเส้นทาง Belt and Road ของจีน และยังมีกลยุทธ์ในการเร่งขยายการส่งออกสินค้าและบริการของไทย และเพิ่มโอกาสผ่านช่องทางการค้าสมัยใหม่ อาทิ E-Commerce เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวลงบ้าง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะผลักดันการส่งออกไปยังตลาดอื่นเพื่อทดแทนแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปจีน เพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งยังมีโอกาสในการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น จากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศร่วมมือกับนานาชาติด้านการค้า และตั้งเป้าจะนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ ในอีก 15 ปีข้างหน้า เป็นมูลค่าถึง 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในงาน China International Import Expo ที่นครเซี่ยงไฮ้ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา
สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจข้อมูล FTA และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของจีน อาทิ สถิติการค้า และอัตราภาษีนำเข้า-ส่งออก กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนของประเทศจีน สามารถสืบค้นข้อมูลได้ผ่านทาง http://www.dtn.go.th/ และ http://ftacenter.dtn.go.th หรือสอบถามได้ที่ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center หมายเลข 0 2507 7555 และทาง e-mail : ftacenter@dtn.go.th
——————————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์