ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียรผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ประจำปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560– กันยายน 2561) โดยเปรียบเทียบกับปีก่อน สรุปดังนี้
ทกท. เรือเทียบท่า 3,243 เที่ยว เพิ่มขึ้น9.413% สินค้าผ่านท่า 22.077 ล้านตัน เพิ่มขึ้น5.891 % ตู้สินค้าผ่านท่า 1.497 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 0.032 %
ทลฉ. เรือเทียบท่า 11,610เที่ยว ลดลง1.818% สินค้าผ่านท่า 86.490ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.100 % ตู้สินค้าผ่านท่า 8.016 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 4.410 %
ทชส. เรือเทียบท่า 3,614 เที่ยว เพิ่มขึ้น24.321% สินค้าผ่านท่า 254,724ตัน เพิ่มขึ้น 28.528 %
ทชข. เรือเทียบท่า 1,083 เที่ยว เพิ่มขึ้น60.207% สินค้าผ่านท่า 71,468ตัน ลดลง 8.895 %
ทรน. เรือเทียบท่า 288 เที่ยว เพิ่มขึ้น19.008% สินค้าผ่านท่า 89,919ตัน เพิ่มขึ้น 34.991%
เศรษฐกิจโลกครึ่งปีแรกของปี 2561มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในทุกภูมิภาค เกิดจากภาวะการค้าโลกที่ดีต่อเนื่องการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และการส่งออกในภูมิภาคต่างๆ ถือเป็นแรงสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเติบโตต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาดูในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำราคาน้ำมันที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นความคืบหน้าการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เสถียรภาพทางการเมืองในเขตยูโรโซน การเริ่มชะลอตัวและภาวะหนี้ในระบบเศรษฐกิจของจีน รวมถึงความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2561 ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น การบริโภค รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของ กทท. (ทกท. และ ทลฉ.) ที่เติบโตสูงขึ้นทั้งปริมาณสินค้าผ่านท่าและตู้สินค้าโดยในปีงบประมาณ 2561กทท. มีตู้สินค้าผ่านท่าทั้งสิ้น 9.513 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.685 และปริมาณสินค้าผ่านท่า 108.567 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ3.656 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกในปี 2562 และ 2563 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามการคาดการณ์ของ IMF อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งปัจจัยต่างๆ ภายนอกประเทศเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมที่จะมีอัตราการเติบโตที่ลดลง