วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธานประชุมทบทวนการดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ให้ขยายเวลาการตรวจสุขภาพ การจัดทำบัตร และการตรวจลงตราวีซ่า ออกไปอีก 6 เดือน พร้อมทั้งทบทวนแนวทางการดำเนินการอนุญาตกรณีแรงงานต่างด้าวเคลื่อนย้าย โดยมี นางณัชชารีย์ ศิรกิตติวรพงษ์ จัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในกลุ่มคนไทยและคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้องและลักลอบหลบหนีเคลื่อนย้ายมาอาศัยกับกลุ่มเพื่อนหรือญาติพี่น้องเนื่องจากกลัวความผิด จึงอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ให้ขยายเวลาการตรวจสุขภาพ การจัดทำบัตร และการตรวจลงตราวีซ่า ออกไปอีก 6 เดือน โดยให้มีการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ โดยการผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่มีนายจ้าง/สถานประกอบการที่ประสงค์จะจ้างงานคนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงาน ขอให้คนต่างด้าวทั้ง 3 ประเภทข้างต้น ดำเนินการตามแนวทางที่ประกาศทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมาตรการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย สามารถเดินทางข้ามเขตจังหวัดได้ ประกอบด้วย กิจการขนส่งสินค้า กิจการรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มทำงานบ้าน ที่พักอาศัยกับนายจ้างแล้วจะเดินทางไปกับนายจ้าง ส่วนกรณีเคลื่อนย้ายออกนอกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะต้องตรวจสอบมาตรการจังหวัดปลายทาง กรณีเคลื่อนย้ายเข้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข็มงวด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด หากไม่พบเชื้อจึงจะได้รับอนุญาต โดยนายจ้างจะต้องยื่นขออนุญาต ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาตรวจสอบเอกสารก่อน และต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา