นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 4-5 ก.พ.2564 ว่า จากการประชุมร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด เพื่อติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19 ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานีได้ประกาศปิดทำการด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนการค้าทุกจุดเป็นการชั่วคราว ยกเว้นจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็กเพียงจุดเดียว ที่ยังคงสามารถเปิดทำการเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ซึ่งก็มีปัญหาผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรออกไปจำหน่ายได้ โดยเฉพาะสินค้าประมง จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเร่งประสานงานไปยังฝ่าย สปป.ลาว เพื่อพูดคุยแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ก่อน หากไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับจังหวัด และต้องการการสนับสนุนในระดับกระทรวงหรือระดับรัฐบาล ก็ขอให้เสนอเข้ามาเพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ยังสั่งการให้ทำแผนจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้เร็วขึ้น หลังพบว่าจังหวัดอุบลราชธานียังเบิกจ่ายงบประมาณไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ล่าช้า
ในส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ รมช.พาณิชย์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำร่องลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรโดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อลงให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ หลังพบว่าเกษตรกรยังมีปัญหาต้นทุนสูง ขาดความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ การเลี้ยงการจัดการ การป้องกันโรค และที่สำคัญคือขสดแคลนพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ทำให้ได้ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงโคลดลง นอกจากนี้ จ.ศรีสะเกษ ยังมีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทางจังหวัดได้เสนอแผนการแก้ไขปัญหาไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว
“ผมรับปากจะเร่งผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำของจังวัดศรีสะเกษในระดับนโยบาย เพราะน้ำเป็นต้นทุนของทุกชีวิต โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หากไม่มีน้ำเพียงพอหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน หอมแดง และพืชเกษตรอื่นๆ จะกระทบกับรายได้เกษตร และภาคอุตสาหกรรม จึงต้องเร่งรัดผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม” นายวีรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ รมช.พาณิชย์ยังได้กำชับที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยระดับจังหวัด ทั้งจ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ ว่าจะต้องดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดในทุกๆ มิติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาโควิดระบาดระลอก 2 พร้อมทั้งต้องทำแผนช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เศรษฐกิจของจ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษ ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น การลดต้นทุนการผลิต และสร้างอัตลักษณ์สินค้าชุมชนผ่านงานวิจัยพืชพันธุ์ใหม่ และสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal และ Next Normal ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน และคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด เพื่อกำกับ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ และยังได้แต่งตั้งรัฐมนตรีให้กับกำกับดูแลในแต่ละจังหวัด โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบจังหวัดอุบลราชธานีกับศรีสะเกษ