กรมชลประทาน สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากผักตบชวา ทำดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวา โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดิ์ ต.ศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการดำเนินการกำจัดผักตบชวา โดยได้กำหนดแนวทางการบูรณาการแผนการกำจัดผักตบชวา เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผักตบชวาโดยประชาชนในพื้นที่แหล่งน้ำ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ กิจกรรม Kick Off กำจัดผักตบชวาและวัชพืช ตามนโยบายคลองสวยน้ำใส และหน้าบ้านน่ามอง จึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผักตบชวาวัชพืชทางน้ำที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและทำลายระบบนิเวศเสียหายเนื่องจากดูดซับสารอาหารทำให้น้ำเน่าเสียและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำเนื่องจากขาดออกซิเจน อีกทั้งเป็นตัวการกีดขวางทางน้ำอีกด้วย
กรมชลประทาน ได้สนองนโยบายของรัฐบาล โดยการนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชทางน้ำ ไปแปรรูปและใช้ประโยชน์สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ อย่างในพื้นที่ตำบลศาลาดิน อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ที่กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี ได้นำผักตบชวามาแปรรูปทำดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวา เพื่อส่งขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
สำหรับการนำผักตบชวาที่เก็บได้จากแม่น้ำหรือคลองต่างๆมาใช้ในการทำดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวาของกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี นั้น จะเริ่มจากการรับซื้อผักตบชวาตากแห้งจากชาวบ้าน ที่นำผักตบชวาไปสับก่อนนำไปตากแดดเป็นเวลา 3 วัน ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท จากนั้นนำผักตบชวาตากแห้งมาผสมกับกาบมะพร้าวสับ แกลบดิบ ขี้เถ้าแกลบ และดินบดละเอียดในอัตราส่วนที่เท่ากัน เช่น ถ้าใช้กระป๋องตวง ก็ให้ใช้ส่วนผสมอย่างละ 1 กระป๋องเท่ากัน ได้เป็นดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวาที่เหมาะแก่การปลูกพืชได้ทุกชนิด ก่อนบรรจุใส่ถุงจำหน่าย ส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้าทั่วไป ในราคาถุงละ 10 บาท หักเข้ากลุ่มฯ 1 บาท เป็นค่าตอบแทนคนทำถุงละ 2 บาท ชาวบ้านที่ทำผักตบมาขายให้กับกลุ่มฯ จะมีรายได้ตั้งแต่ 2,000 – 6,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันมียอดขายดินพร้อมปลูกกว่า 5,000 ถุง/เดือน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
“ทั้งนี้ ผักตบชวาที่เก็บขึ้นมาจากคลอง 25 กิโลกรัม จะนำมาทำผักตบชวาตากแห้งได้ 1 กิโลกรัม ผักตบชวาสด 1 ไร่ ได้น้ำหนักที่ 40 ตัน ชาวบ้านที่เก็บผักตบชวามาขาย 1 ไร่ จะได้เงินประมาณ 32,000 บาท โดยที่ผ่านมามีการรับซื้อผักตบชวาแห้งเฉลี่ยปีละ 72,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.44 ล้านบาท สามารถช่วยรัฐกำจัดผักตบชวาตามลำคลองได้กว่า 1,800 ตัน/ปี”
การนำผักตบชวามาแปรรูปสร้างมูลค่าและผลิตภัณฑ์ส่งขาย นอกจาก จะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดูแลความสะอาดแม่น้ำลำคลองในพื้นที่อาศัยของตนได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมชลประทานพร้อมที่จะขยายผลแนวทางดังกล่าวไปยังกลุ่มบริหารการใช้น้ำอื่นๆ ทั่วประเทศอีกกว่า 2,700 กลุ่ม
**********************************
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์