อาเซียนบรรลุผลการจัดทำความตกลง 3 ฉบับด้านการค้าบริการ การลงทุน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นพื้นฐานสำคัญในการขยายการค้า การลงทุน และหวังให้เกิดการลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยจากสิงคโปร์ในระหว่างการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 รัฐมนตรีเศรษฐกิจจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ร่วมกันลงนามความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (ASEAN Agreement on Electronic Commerce) ซึ่งมีสาระสำคัญต้องการให้เกิดการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนมุ่งให้เกิดการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อ ลดความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศ โดยผ่านความร่วมมือต่างๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การส่งเสริมการศึกษาและเทคโนโลยี และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างด้านดิจิทัล และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน
นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ฉบับนี้ถือเป็นความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ฉบับแรกของอาเซียน ซึ่งหลังจากการลงนามในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 คาดว่าจะสามารถมีผลใช้บังคับในช่วงต้นปี 2562 หลังจากสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศให้สัตยาบันความตกลงฉบับนี้ โดยความตกลงฯ จะเป็นพื้นฐานให้สมาชิกอาเซียนมีกลไกการค้าขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเร่งให้อาเซียนที่ยังไม่มีกฎระเบียบในด้านนี้ อาทิ กัมพูชา เมียนมา และ สปป. ลาว มีกฎระเบียบด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมาตรฐานทัดเทียมประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย และช่วยให้การค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนขยายตัวมากขึ้น
นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังประสบความสำเร็จในการจัดทำเอกสารอีก 2 ฉบับ คือ ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) และเอกสารปรับปรุงความตกลงการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) ทั้งนี้ ATISA จะใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบันที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2538 โดยได้ปรับปรุงให้เป็นความตกลงที่ทันสมัย เพิ่มหลักเกณฑ์ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าเกินความจำเป็น ซึ่งน่าจะช่วยให้บริการในสาขาที่ไทยมีศักยภาพสามารถเติบโตมากขึ้นในประเทศอาเซียน เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ เป็นต้น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของสมาชิกอาเซียน เพราะกำหนดให้สมาชิกอาเซียนต้องเผยแพร่ระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนต่อสาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน สำหรับ ACIA ฉบับปรับปรุงมีสาระสำคัญ คือ การขยายขอบเขตการห้ามกำหนดเงื่อนไขต่อ นักลงทุนในการที่จะเข้าไปลงทุนในอีกประเทศ แต่ก็ยังเปิดช่องให้สมาชิกอาเซียนสามารถบริหารจัดการนโยบายของตนได้ โดยสามารถสงวนมาตรการที่มีความอ่อนไหว ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินการที่เป็นพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และอำนวยความสะดวกการลงทุนในภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 มูลค่าการค้าของไทยผ่านอีคอมเมิร์ซขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 2.81ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.86 มูลค่าการค้าขายที่ทำรายได้สูงอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก/ค้าส่ง การให้บริการที่พัก การผลิต ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และการขนส่ง เป็นต้น
——————————-
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ