แม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นแม่น้ำสายหลักที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีต บอกเล่าประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่มีมาแต่วันวานมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสายน้ำที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชนริมสองฝั่ง หล่อเลี้ยงผู้คนด้านอุปโภค-บริโภคการเกษตรกรรม และยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ รถ ราง เรือ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งภูมิทัศน์สองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยามีโบราณสถาน วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งไว้อย่างสง่างาม สะท้อนคุณค่าสายน้ำแห่งวัฒนธรรมได้อย่างโดดเด่นและควรค่าแก่การรักษา
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า หากเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะทางเรือ ระหว่างทางจะเห็นสถานที่ท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมากมาย กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์เชิงท่องเที่ยวย่านชุมชนตลาดน้อย นับเป็นศูนย์กลางการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวทางน้ำเพิ่มขึ้น กรมเจ้าท่าได้เห็นความสำคัญต่อสถานที่ทั้งสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีแนวคิดเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนย่านฝั่งธนกับชุมชนย่านตลาดน้อยฝั่งพระนคร โดยใช้ท่าเรือกรมเจ้าท่า เป็นจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมต่อสถานทีประวัติศาสตร์ ระหว่าง ท่าน้ำภานุรังษี – ตลาดน้อย – กรมเจ้าท่า – ท่าเรือปากคลองสาน – ท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง 1919) เพื่อเผยแพร่ศูนย์กลางสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ เข้าใจประวัติศาสตร์อย่างเข้าถึง เข้าใจ พร้อมร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนา
ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำ ย่านประวัติศาสตร์ฝั่งพระนคร เริ่มจากท่าเรือ กรมเจ้าท่า มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนกรมเจ้าท่าเคารพนับถือ ได้แก่ พระพุทธโลกุตรธรรมประชานาถ พระพุทธรูปประจำกรมเจ้าท่า ซึ่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้โปรดเมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐาน ณ เศียรพระพุทธรูป และโปรดประทานนามพระพุทธรูปว่า “(พระ-พุด-ทะ-โล-กุด-ตะ-ระ-ทำ-มะ-ประ-ชา-นาด)” ซึ่งแปลว่า พระพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งโลกุตรธรรมทรงเป็นที่พึ่งของปวงประชา และศาลเจ้าจ่งเซียนกง สันนิษฐานกันว่าเป็นตุ๊กตาหินแกะสลักที่มากับเรือสำเภาจีนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และมีสภาพแตกหักเสียหายอยู่ใต้น้ำ อธิบดีกรมเจ้าท่า จึงได้ซ่อมแซมศาลเจ้าใหม่ขึ้นเพื่อให้เกิดความสวยงาม และเป็นที่เคารพนับถือผู้ผ่านไปมา บริเวณย่านชุมชนตลาดน้อยจะพบ ธนาคารไทยพาณิชย์ (แบงก์สยามกัมมาจล) ที่ทำการของธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยติดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มก่อตั้งขึ้นในนาม “บุคคลัภย์” โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2447 โบสถ์กาลหว่าร์ หรือ วัดแม่พระลูกประคำ เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2434 มีอายุรวมแล้วมากกว่า 100 ปี ถือเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนตลาดน้อย หรือ ตะลัคเกียะ ชุมชนเชื้อสายจีน อาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันย่านชุมชนตลาดน้อยกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมมาถ่ายรูป ศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตชุมชน และศิลปะแบบสตรีทอาร์ต ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าของ “วัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิม” ท่าน้ำภานุรังษี มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ อาทิ พิพิธภัณฑ์ชุมชนท่าน้ำภาณุรังษี หรือ สวนศิลป์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โรงกลึงเก่าย่านชุมชนตลาดน้อย บูรณะขึ้นเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและที่จัดแสดงนิทรรศการริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีทัศนียภาพที่สวยงาม และมีความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ ต่อเนื่องมาจากย่านเยาวราช ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของกรุงเทพมหานคร และเป็นอีกหนึ่งอู่อารยธรรมที่สะท้อนการตั้งถิ่นฐานในยุคเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ฝั่งธน ท่าเรือหวั่งหลี (ล้ง 1919) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามกับตลาดน้อย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนว Heritage ด้วยการพลิกฟื้นอดีตท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ท่าเรือกลไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีบทบาทสำคัญของสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย – จีน ที่มีการค้าขายสินค้าผ่านการขนส่งทางน้ำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เชื่อมต่อไปยัง ท่าเรือปากคลองสาน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมสำคัญที่ใช้ป้องกันข้าศึกตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ป้อมดังกล่าวเป็นสถานที่ตั้ง เสาธงสัญญาณ เพื่อแจ้งข่าวเรือสินค้าเข้าออกและแจ้งข่าวสารการเดินเรือในกิจการกรมเจ้าท่า ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าพร้อมเปิดให้บริการเรือข้ามฟากเพื่อการท่องเที่ยว ศึกษาสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ นับเป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่กรมเจ้าท่าจะมอบให้กับประชาชน อธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวทิ้งท้าย
………………………………………