วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10.00 น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้การต้อนรับ Mr. Gazi Mohammad Nural Kabir อธิบดีกรมบริการทางสังคม และคณะข้าราชการระดับสูง จาก Ministry of Social Welfare ประเทศบังคลาเทศ ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม ในประเทศไทย ณ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
นางนภา เศรษฐกร กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ และการให้บริการสวัสดิการสังคมแก่คนไร้ที่พึ่ง ผู้ทำการขอทาน สมาชิกนิคมสร้างตนเอง ราษฎรบนพื้นที่สูง และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคม โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการจัดกิจกรรมตามโครงการพิเศษ โดยมีการขับเคลื่อนงานสวัสดิการผ่าน 3 พรบ. ได้แก่ พรบ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 พรบ.การควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ขับเคลื่อนงานสวัสดิการผ่าน 3 พรบ. ได้แก่ พรบ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 พรบ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ซึ่งใน พรบ. 2 ฉบับแรกจะคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิแก่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะแต่ พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายแม่บทในการจัดสวัสดิการสังคมของภาครัฐ ภาคเอกชน และส่งเสริมให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อเป็นลการเสริมสร้างความผาสุกแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม
นางนภา เศรษฐกร กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนกฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม มีการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม 4 ระบบ ได้แก่ ระบบบริการสังคม (Social Service) บริการโดยรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การศึกษาฟรี บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งอำนวยความสะดวก และที่อยู่อาศัย ระบบประกันสังคม (Social Insurance) เป็นการจัดสวัสดิการสังคมโดยภาครัฐ เพื่อคุ้มครองป้องกันประชาชนที่มีรายได้ไม่ให้ได้รับความเดือนร้อน เมื่อต้องสูญเสียรายได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ระบบการช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance) ภาครัฐในการให้การสงเคราะห์แก่กลุ่มเด็ก และเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรี และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่มีปัญหาความเดือดร้อน ระบบการส่งเสริมสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม (Social Partnership) เป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ประชาสังคม NGOs อาสาสมัคร และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการจัดสวัสดิการสังคม ภายใต้แนวคิด “ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corperate Social Responsibility (CSR) และมีการพัฒนาสู่การทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE)
การขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคมในปี 2562 จะเป็นการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแบบก้าวหน้า เพื่อการพัฒนา (Productive Welfare) เป็นสวัสดิการที่ไม่ให้เปล่าแต่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กันไป แต่ประชาชนยังมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งสวัสดิการสังคมแบบก้าวหน้าเพื่อการพัฒนา (Productive Welfare) ประกอบด้วย 1) แรงบันดาลใจ ผู้ด้อยโอกาสยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้อย่างทั่วถึง การจัดสวัสดิการสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ และพัฒนาตนเอง 2) การประสานทรัพยากร การประสานทรัพยากรทุกภาคส่วนในสังคม 3) รูปแบบแนวทางที่ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบสวัสดิการก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เน้นการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน นางนภา กล่าวในตอนท้าย