ธ.ก.ส.เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทุกกลุ่ม เน้นการสร้างความยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยปรับโครงสร้างหนี้ตามสภาพปัญหาแต่ละราย ควบคู่การฟื้นฟูการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง
นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ได้เห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. โดยดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. จำนวน 36,605 ราย ที่มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ด้วยการพักต้นเงินครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน สำหรับต้นเงินอีกครึ่งหนึ่ง(ร้อยละ 50) ให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระตามกรอบเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-3 เมื่อเกษตรกรชำระหนี้ตามสัญญาใหม่เรียบร้อยแล้ว ดอกเบี้ยที่พักไว้ ธ.ก.ส. จะยกให้เกษตรกร ส่วนต้นเงินที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้นำมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ภายใต้ศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย โดยใช้หลักที่เป็นธรรมและไม่ส่งผลกระทบต่อภาระของเกษตรกร พร้อมทั้งให้สำนักงาน กฟก. ดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาค่าครองชีพ เพิ่มสูง ทำให้รายได้ที่มาจากการทำการเกษตรไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้ต้องการให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินเช่นเดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมเกษตรกรทุกกลุ่ม ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิก กฟก. เท่านั้น โดยช่วยเหลือให้เหมาะสมหรือตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายศรายุทธกล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว ธ.ก.ส. จะทำการสอบทานหนี้ของเกษตรกรทุกราย กรณีพบว่าเกษตรกรมีหนี้ที่เป็นภาระหนัก ธ.ก.ส. จะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กรณีเกษตรกรไม่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ เนื่องจากชราภาพ พิการหรือเสียชีวิต ธ.ก.ส. จะพิจารณาจำหน่ายหนี้ออกจากบัญชี เป็นราย ๆ ไป รวมทั้งกรณีเกษตรกรมีหนี้ที่เป็นภาระหนักซึ่งไม่สอดคล้องกับรายได้ ธ.ก.ส.จะดำเนินการพิจารณา ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพและรายได้ของเกษตรกรแต่ละราย โดยมีการขยายเวลาชำระหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งประเทศ ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความรอบคอบ คำนึงถึงหลักความเป็นธรรมและไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในระยะยาว
#######################################