รู้เท่าทัน 10 ความเสี่ยงสุขภาพคนไทย ปี 2564

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลประกอบจาก หนังสือ ThaiHealth WATCH 2021

การมีสุขภาพดี แข็งแรงปราศจากโรคภัย ถือเป็นยอดปรารถนาสำหรับทุกคน แต่ทำอย่างไรถึงจะเป็นเช่นนั้นได้ เพราะท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่เร่งรีบ การกินอาหารที่เกินความต้องการของร่างกาย

ขณะที่ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล ยังไม่ได้รับการกลั่นกรองเนื้อหาและความถูกต้อง รวมไปถึงปัญหามลภาวะที่ทุกคนต่างต้องเผชิญ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุขภาพของคนไทยอ่อนแอลง

นับเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัทไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที “Thaihealth Watch 2021 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564” โดยเปิดเผยผลสำรวจ 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย หวังกระตุ้นเตือนคนไทยให้รู้เท่าทัน พร้อมหาทางป้องกัน เพื่อปิดความเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. รับหน้าที่รายงาน 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ยุคโควิด มาราธอน  ตั้งแต่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้

ประเด็นที่ 1. FAKE NEWS บทเรียนรับมือโรคอุบัติใหม่ให้ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในภาวะวิกฤตโควิด-19 แน่นอนว่าผู้คนย่อมตื่นตระหนก และช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นเวลาที่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนจะทำงาน เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนตื่นตระหนกจากความไม่ชัดเจน และขาดแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

จากการจับกระแสความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ ประเด็น fake news ระหว่างวันที่ 16 มกราคม -31 กรกฎาคม 2563 พบว่ามีจำนวนข้อความบนโลกอินเทอร์เน็ตไทยที่พูดถึง COVID-19 พร้อมกับ fake news มากถึง 19,118 ข้อความ ซึ่งจากการสังเกตพบว่า fake news ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับมาตรการหรือการประกาศของรัฐ เช่น สถานการณ์การระบาด หรือเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การปิดเมืองหรือสถานที่ต่างๆ หรือนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับวิธีรักษาโรค

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับทางออกและการป้องกันข่าวปลอม กระทรวงสาธารณสุข สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลสุขภาพ “ไทยรู้สู้โควิด” เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคลในการป้องกันโรค พร้อมกับสร้างพื้นที่ตรวจสอบข่าวโดยโครงการ Cofact (Collaborative Fact Checking : Cofact) เพื่อร่วมตรวจสอบข่าวลวงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประเด็น COVID-19  เป้าหมายสำคัญคือ การทำให้ทุกคนเปิดรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน ร่วมตรวจสอบข่าว นำมาสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อของพลเมืองดิจิทัล ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อและสังคมสุขภาวะ

ประเด็นที่ 2. NCDs กลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง นับเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะหากติดเชื้อ COVID-19 อาจมีอาการที่รุนแรง โดยมีงานวิจัยระบุถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค NCDs ที่ส่งผลต่อ COVID-19 ดังนี้

โรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงของ COVID-19 ถึง 7 เท่า ส่วนการสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงถึง 1.5 เท่า การดื่มสุรา ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานในการต่อสู้กับไวรัสตํ่าลง ขณะที่มลพิษทางอากาศ ส่งผลเสียต่อการทำงานของปอด เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับทางออกของปัญหา ต้องมีบรรทัดฐานแบบใหม่ หรือชีวิตวิถีใหม่ กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดละเลิกบุหรี่และสุราซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ COVID-19 รุนแรงขึ้นได้ เพราะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรงและภูมิคุ้มกันของร่างกาย ขณะที่การมีกิจกรรมทางกายจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งโรคเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงของ COVID-19

ประเด็นที่ 3. Digital Disruption หมุนเร็วขึ้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาท และเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ COVID-19 ยังเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการก้าวไปสู่โลกใหม่ของดิจิทัล (Digital Disruption) ให้หมุนเร็วยิ่งขึ้น จากมาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) งดกิจกรรมทางสังคม เน้นอยู่บ้านให้มากที่สุด ดิจิทัลจึงเข้ามาแทนที่เพื่อใช้ทดแทน

นอกจากนี้ยังเกิดพฤติกรรมในช่วงล็อคดาว์ที่ “โลกออนไลน์” เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนค่อนข้างมาก และปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ อาทิ การประชุม ช้อปปิ้ง ออกกำลังกาย เป็นต้น

สำหรับทิศทางในอนาคตนั้น ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้น สิ่งใหม่ๆ ย่อมเข้ามาท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราทุกคนจึงต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาทักษะ รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างสมดุล

ประเด็นที่ 4. ออกกำลังกายวิถีใหม่

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง อีกหนึ่งปัญหาแฝงจากพฤติกรรมของผู้คนในช่วง COVID-19 ที่ต้องอยู่กับบ้านเป็นหลัก ขณะที่ฟิตเนส สนามกีฬา หรือสวนสาธารณะถูกปิด จนทำให้ผู้คนมีกิจกรรมทางกายน้อยลง ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลในช่วงล็อกดาวน์พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพราะต้องอยู่ในบ้าน นั่งๆ นอน ๆ เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 14 ชั่วโมง 32 นาทีต่อวัน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs ได้

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สำหรับทางออกของปัญหาท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส โดยการออกกำลังกายจากที่บ้าน หรือออกกำลังกายแบบออนไลน์ เพราะนอกจากจะสะดวก ลดการเดินทาง ยังช่วยคลายเครียดจากสถานการณ์ COVID-19 ได้อีกด้วย ขณะที่การจัดกิจกรรมสุขภาพและกีฬามวลชน จะต้องมีการยกมาตรฐานการจัดงาน ให้มีความปลอดภัยด้านต่างๆ โดยเฉพาะป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่เหมาะสม

ประเด็นที่ 5. ภาวะเครียด ผลพวงทางเศรษฐกิจตกต่ำ

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ผลกระทบของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัว มีคนตกงานมากขึ้น กำลังซื้อก็ลดลง จนอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ COVID-19 ยังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพจิตใน 4 เรื่องคือ ความเครียด ภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า และความคิดทำร้ายตัวเอง

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การเยียวยาด้านสุขภาพจิตถือเป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมกับจัดทำแผนฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางจิตใจ เต็มเปี่ยมด้วยพลัง และสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal หลัง COVID-19 ได้อย่างมีความสุข

ประเด็นที่ 6. New Normal โลกเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ เป็นการดำเนินชีวิตประจำวันแบบใหม่ ประชาชนหันมาเฝ้าระวังและดูแลตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย และการใส่ใจเรื่องสุขอนามัย ขณะที่การทำงานออนไลน์ ไม่ว่าจะทำงานจากที่บ้าน หรือทำงานที่อื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยประหยัดเวลาการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันสำหรับประชุมออนไลน์ต่างๆ การจัดงานแถลงข่าว สัมมนาออนไลน์ รวมไปถึงการเรียนการสอนทางไกล ก็กลายมาเป็นทางเลือกหนึ่ง ในการดำเนินชีวิตประจำวันแบบ New Normal

สำหรับทิศทางของเรื่องนี้ ดร.สุปรีดา กล่าวว่า โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคที่เกิดจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่เป็นต้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดเหล่านี้ จึงไม่ใช่แค่งานในกรอบทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคม โดยการสร้างความรู้และสนับสนุนประชาชนเรื่องสุขอนามัย ภูมิคุ้มกัน และการป้องกัน แนวทางการสร้างวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal เพื่อรับมือกับโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงจำ เป็นต้องเกิดการปฏิบัติร่วมกันในระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบการจัดการ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสถานการณ์ที่ต้องจับตาต่อเนื่องมาจากปี 2563 ดังนี้

ประเด็นที่ 7.  “ฝุ่นควัน” อันตราย พบสัญญาณโรคระบบททางเดินหายใจ

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกิดขึ้นได้ จาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง การเกษตรและป่าไม้ และมลพิษข้ามพรมแดน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่แตกต่างกันไป จากสถิติพบว่า แนวโน้มของอัตราตายจากโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกภาค ซึ่งภาคเหนือมีอัตราตายสูงกว่าภาคอื่น โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้น 1.5 เท่ารองลงมาคือกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังแนวโน้มของอัตราตายจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยพบว่าทุกภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3-2 เท่าในรอบ 10 ปี

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบกับสุขภาพของประชาชน ไม่ได้เกิดมาจากแหล่งเดียว วิธีแก้ไขจึงต้องใช้หลากหลายวิธีรวมกัน ที่สำคัญต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยในเขตเมือง ควรเพิ่มพื้นที่สีเขียว และยกมาตรฐานไอเสียและมาตรฐานนํ้ามันเชื้อเพลิง เพื่อลดการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ ส่วนในเขตอุตสาหกรรม ต้องออกข้อกำหนดให้ต้องจัดทำข้อมูลการปลดปล่อยมลพิษ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขณะที่ในเขตเกษตรกรรม ควรใช้วิธีจัดระบบการเผาแทน ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงปัญหา กำหนดเขตที่ดินทำกินอย่างเหมาะสม วางกฎเกณฑ์ระหว่างรัฐกับชุมชนเพื่อร่วมกันป้องกันไฟป่า

ประเด็นที่ 8. “ขยะพลาสติก” กำลังกลับมา

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า วิกฤต COVID-19 เข้ามาในประเทศรัฐบาลตัดสินใจประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ตามแคมเปญอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้บริการ food delivery ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือขยะพลาสติกจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาให้ต้องปวดหัวกันอีกครั้ง ทั้งที่เมื่อช่วงต้นปีพ.ศ.2563 ประชาชนตื่นตัวกับแคมเปญรณรงค์งดแจกถุงพลาสติก มีข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประเมินว่าวิกฤต COVID-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน ยังไม่รวมถึงขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่คาดว่าจะมีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยราว 1.5-2 ล้านชิ้น/วัน

ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ทางออกในการลดปัญหาขยะพลาสติก ควรส่งเสริมให้แยกขยะ ก่อนทิ้งขยะพลาสติกลงถัง เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ ลดการเกิดใหม่ในขยะทุกประเภท รวมไปถึงการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการแยกขยะผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ

ประเด็นที่ 9. ปัญหา “สุขภาพจิต” วัยรุ่นไทย เมื่อความสัมพันธ์เป็นสาเหตุ

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของวิกฤต COVID-19 ที่ต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนมาใช้ระบบออนไลน์ วัยรุ่นหลายคนสะท้อนว่ามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนที่บ้าน ที่ไม่เข้าใจพฤติกรรมการเรียนออนไลน์ การใช้โทรศัพท์มือถือ และการใช้งานคอมพิวเตอร์ ทำให้ทะเลาะกับผู้ปกครอง บางรายถูกทำร้ายร่างกาย หลายคนสอบถามวิธีรับมือกับความเศร้า แต่ในทางกลับกันช่วงที่โรงเรียนยังเปิดสอนตามปกติ จากการเก็บสถิติพบข้อความที่กล่าวถึงการกลั่นแกล้ง หรือ bully ในโรงเรียนอย่างน้อย 3,473 ข้อความ โดยรูปแบบการกลั่นแกล้ง มีทั้ง ทำร้ายร่างกาย ไถเงิน พูดจาล้อเลียน ด่าทอ การแบน เหยียด ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจนำเด็กวัยรุ่นไปสู่ภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

ทางออกสำหรับปัญหานี้ ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว เปิดใจพูดคุยกัน เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่น่าสนใจ ในการสานสายสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเริ่มจากการสร้างบรรยากาศที่ดีภายในบ้าน เพียงแค่พ่อแม่เป็นนักฟังที่ดี ฟังให้มากพูดให้น้อย เพื่อจะได้รับรู้ถึงเนื้อหาและความรู้สึกที่ลูกอยากสื่อสาร ส่วนกรณีมีภาวะซึมเศร้า หรือมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะผู้ปกครอง เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ ต้องช่วยกันจับตา เพื่อนำไปสู่กลไกการให้คำปรึกษาหรือบำบัดรักษาต่อไป

ประเด็นที่ 10. พฤติกรรมกินอยู่อย่างไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่ในมนุษย์คนเมือง

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต COVID-19 ยังมีอีกภัยด้านสุขภาพที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลยนั่นคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง

สำหรับคนไทยมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ปีละกว่า 3.2 แสนคน โดยเสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิดมากที่สุด ตามมาด้วยหลอดเลือดสมอง ปอดอักเสบ หัวใจขาดเลือด และเบาหวาน ตามลำดับ จากการรวบรวมความเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ถึงพฤติกรรมการกิน พบว่าอาหารที่ติดอันดับส่วนใหญ่เป็นอาหารรสจัด ขณะที่เครื่องดื่มยอดนิยมคือ กาแฟ ชานม และชาเขียว ที่น่าสนใจคือการซื้ออาหารจากเดลิเวอรี่ และการซื้ออาหารจากร้านสะดวกซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้สถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี พ.ศ.2553-2562 พบว่าคนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่า ที่น่าสนใจคือ คนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ มากกว่าคนนอกเขตเมือง

สำหรับทางออกของปัญหานี้ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า มีข้อมูลที่ชัดเจนจากหลายงานวิจัยพบว่า การรับประทานผักจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรลดการกินเนื้อแดง เนื้อปิ้งย่าง ที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการกิน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค แต่ยังไม่สามารถลดความเสี่ยงเป็นศูนย์ได้ จึงควรตรวจคัดกรองล่วงหน้าก่อนมีอาการด้วย

ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของโรคที่เกิดขึ้น มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เชื่อว่าทั้ง 10 ประเด็นเสี่ยงทางสุขภาพที่ทาง สสส.และภาคีเครือข่าย ได้สะท้อนออกมาในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้คนไทย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตให้เหมาะสม และพร้อมที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ตลอดปี 2564

————–