การมีสุขภาพดี แข็งแรงปราศจากโรคภัย ถือเป็นยอดปรารถนาสำหรับทุกคน แต่ทำอย่างไรถึงจะเป็นเช่นนั้นได้ เพราะท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่เร่งรีบ การกินอาหารที่เกินความต้องการของร่างกาย
ขณะที่ข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล ยังไม่ได้รับการกลั่นกรองเนื้อหาและความถูกต้อง รวมไปถึงปัญหามลภาวะที่ทุกคนต่างต้องเผชิญ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุขภาพของคนไทยอ่อนแอลง
นับเป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัทไวซ์ไซท์ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทางวิชาการ จัดเวที “Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563” โดยเปิดเผยผลสำรวจ 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย หวังกระตุ้นเตือนคนไทยให้รู้เท่าทัน พร้อมหาทางป้องกัน เพื่อปิดความเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. รับหน้าที่รายงาน 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ตั้งแต่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
ประเด็นที่ 1. แค่เครียด หรือซึมเศร้า
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ความเสี่ยงสำคัญของผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าคือ อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ กรมสุขภาพจิตเคยเปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2561 มีคนไทยพยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 ราย หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิต ราว 4,000 คน ถือเป็นสาเหตุการตายของคนไทยลำดับต้นๆ รองจากโรคร้ายแรงอื่น เช่น มะเร็ง หัวใจ ปอด เบาหวาน ฯลฯ ไปจนถึงการประสบอุบัติเหตุ โดยมีวัยรุ่นหรือประชากรที่อายุระหว่าง 15-24 ปี ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราวปีละ 300 คน
“นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนเข้ารับบริการปรึกษาเพิ่มขึ้นผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จาก 10,298 ครั้ง ในปี พ.ศ.2561 แต่เฉพาะครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.2562 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนถึง 13,658 ครั้ง”
สิ่งที่น่าสนใจจากการกระแสบนโลกออนไลน์พบว่า สาเหตุที่ทำวัยรุ่นเครียด อันดับ 1 มาจากปัญหาความสัมพันธ์โดยเฉพาะครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ซึ่งช่วงเวลาที่วัยรุ่นโพสต์ข้อความอยากฆ่าตัวตายมากที่สุดในสื่อทวิตเตอร์คือ วันอังคาร 4 ทุ่ม และวันศุกร์ 1 ทุ่ม หากช้อนความรู้สึกได้ทันจะสามารถลดความเสี่ยงจากการคิดสั้นได้ถึง 50%
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับทางออกและการป้องกันโรคซึมเศร้า หากพบว่าตัวเองเป็นหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เช่น กินยาต่อเนื่องเพื่อลดอาการซึมเศร้า และหากขจัดสาเหตุได้ก็จะช่วยให้หายขาดจากโรคได้ ขณะที่ครอบครัวและคนรอบข้าง หากมาขอคำปรึกษา ต้องให้การยอมรับและตั้งใจรับฟังสิ่งที่เขาบอกเล่า เพราะสัมพันธภาพและการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด
ประเด็นที่ 2. ภัยคุกคามทางออนไลน์ ยิ่งเสพติดออนไลน์ยิ่งเสี่ยงสูง
ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตาจากการเปิดรับสื่อออนไลน์ในกลุ่มเด็กเยาวชน Gen Z นั่นคือ ภัยคุกคามทางออนไลน์ มีรายงานสำรวจหลายชิ้นบ่งบอกว่า นับจากปี 2010 เป็นต้นมา สถิติของการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์มีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กเยาวชนไทย
เด็กเยาวชนยุค Gen Z ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10.22 ชั่วโมง ผลสำรวจของ COPAT ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในปี 62 พบว่า เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เด็ก 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ และ 25% เคยนัดเพื่อนที่รู้จักในออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มากยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง และเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า
ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหา ต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และการระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง
ประเด็นที่ 3. ทางเลือกทางรอดของเด็กและวัยรุ่นในการเดินทาง
ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า การไม่สวมหมวกกันน็อกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เมื่อเผชิญกับอุบัติเหตุทางถนน แม้แนวโน้มการใส่หมวกกันน็อกจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึง 50% สาเหตุที่เด็กและวัยรุ่นไม่ใส่หมวกกันน็อก มีทั้งเดินทางในระยะใกล้ๆ ขี้เกียจใส่ หรือเป็นความเคยชินของเด็กต่างจังหวัดที่จะไม่ใส่หมวกกันน็อก ขณะที่เด็กเล็กที่ส่วนมากเป็นผู้โดยสาร และมีผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองขับขี่ให้ เหตุผลอันดับ 1 คือ หมวกกันน็อกเด็กหาซื้อยาก
สำหรับวิธีป้องกันความปลอดภัยคือ ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง เพราะหมวกกันน็อกช่วยลดการเสียชีวิตได้ 43% ในผู้ขับขี่ และลดการเสียชีวิตของผู้ซ้อนได้ 58% สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา ต้องมีการรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครอง สวมหมวกกันน็อกให้กับลูกทุกครั้งที่นั่งรถจักรยานยนต์ รวมถึงออกแบบหมวกกันน็อกให้พอดีสำหรับเด็ก ขณะเดียวกันควรปลูกฝังค่านิยมความปลอดภัยทางถนน ให้กับเด็กตั้งแต่วัยเรียน
ประเด็นที่ 4. กลัวท้อง มากกว่าติดโรค
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ปัญหาแม่วัยใสมีแนวโน้มลดลง เพราะวัยรุ่นของไทยมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น ช่วงอายุ 15-24 ปีกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน ขณะที่การติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นเกินกว่า 70% ในช่วงเวลา 5 ปีเท่านั้น
สาเหตุสำคัญคือไม่ใส่ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เหตุผลที่วัยรุ่นไม่ใช้ถุงยางเมื่อเจาะลึกในโลกออนไลน์คือ ถุงยางราคาแพง อายไม่กล้าซื้อ ใช้วิธีอื่น เช่น ฝังยาคุม
ดังนั้นเพื่อลดการติดโรค ต้องรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ พร้อมจัดการเรียนรู้เพศศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับ สื่อสารรณรงค์เพื่อปรับมุมมองเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างยั่งยืน
ประเด็นที่ 5. E-sport เส้นแบ่งระหว่างเกมและนักกีฬามืออาชีพ
ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังมีความกังวลเกี่ยวกับ E-Sport ที่ถกเถียงกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการติดเกม สุขภาพ และการพนันในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม E-Sport ได้กลายเป็น 1 ใน 5 อาชีพในฝันของเด็กไทย โดยคิดว่าเป็นอาชีพที่สนุก สามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่ชอบ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เชื่อว่า E-Sport มีผลดีมากกว่าผลเสีย เด็กเยาวชนเกินครึ่งจึงทุ่มเทและใช้เวลา ไปกับเกมไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักกีฬามืออาชีพได้ บางคนเป็นได้แค่คนติดเกมเท่านั้น
อาการติดเกมส่งผลต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต เช่น โรคสมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ซึ่งพฤติกรรมการอยู่หน้าจอของเด็กและวัยรุ่นนั้นอยู่ที่เฉลี่ยถึง 3.10 ชั่วโมง/วัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ขาดกิจกรรมทางกาย มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบการพนันออนไลน์ที่แฝงมากับ E-Sport
ดังนั้น ทางออกสำหรับปัญหานี้ ทุกฝ่ายควรร่วมมือช่วยกันแก้ไขป้องกัน โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้จักการสื่อสารเชิงบวกเพื่อนำสู่การสร้างความร่วมมือของเด็ก ตั้งเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายเล็กๆ ให้ค่อยๆ ปรับตัว จัดการเวลาการเล่นเกมได้ และใช้เวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูบุตรหลาน เพื่อลดโอกาสการเข้าถึงเกมออนไลน์ของเด็กโดยไม่มีการกำกับดูแล
ประเด็นที่ 6. เปิดพฤติกรรมกินอยู่อย่างไทย
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (non-communicable diseases ) หรือ โรค NCDs ยังคงครองแชมป์สาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรโลกและคนไทย ซึ่งสาเหตุที่สำคัญยังคงมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า 5 พฤติกรรมเสี่ยงได้แก่ พฤติกรรมการกิน การสูบบุหรี่ มลพิษภาวะทางอากาศ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพฤติกรรมเนือยนิ่ง ส่งผลต่อ 5 โรคยอดฮิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ เบาหวาน และภาวะสุขภาพจิต พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต จึงมีผลอย่างมากต่อการเกิดโรค
ผลการสำรวจพบว่าอาหารรสเผ็ดและรสหวาน ยังคงเป็นรสชาติยอดนิยมของคนไทย วัยทำงานเน้นอาหารรสจัด วัยรุ่นเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด และคนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว การมีความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ ที่จะทำให้คนกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้น การส่งเสริมการปลูกผัก ผลไม้กินเอง เป็นช่องทางสำคัญที่จะส่งเสริมให้คนหันมากินผักและผลไม้มากขึ้น รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัยให้เอื้อต่อการเข้าถึงผักและผลไม้มากขึ้น
ประเด็นที่ 7. กัญชา เมื่อเป็นยารักษาโรค
ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า กระแสความตื่นตัว และสนใจอย่างมากจากภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่คาดหวังผลการรักษาด้วยสารสกัดกัญชา อย่างไรก็ตามโรคที่กรมการแพทย์ประกาศรับรองว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีเพียง 4 กลุ่มโรคคือ ภาวะคลื่นไส้จากเคมีบำบัด โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดตัวในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาท ขณะที่โลกออนไลน์ที่ระบุถึงสรรพคุณ ไปไกลกว่าที่ได้มีการรับรอง เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจนต้องพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาเพื่อการรักษายังมีองค์ความรู้อีกมากที่ต้องมีการศึกษา ในส่วนของบทบาท สสส. จะเน้นสนับสนุนการขับเคลื่อนด้านวิชาการ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำความรู้ไปใช้อย่างเหมาะสม และส่งผลให้ประชาชนได้ประโยชน์ทางสุขภาพสูงสุด
ประเด็นที่ 8. ชัวร์หรือมั่ว เชื่อได้หรือไม่ Fake news สุขภาพ
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า การเปิดรับสื่อของคนไทย ท่ามกลางความมหาศาลของข้อมูลที่เกิดขึ้นทุก ๆ เสี้ยววินาที ปรากฏการณ์ข่าวลวง ข่าวหลอก หรือ Fake News จึงปะปนอยู่ในคลื่นมหาศาลของข้อมูล ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อข่าวลวง หรือเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข่าวลวงโดยไม่รู้ตัว
ข้อค้นพบที่สำคัญปรากฏการณ์ Fake News บนโลกออนไลน์ โดยพบว่า Facebook เป็นช่องทางที่มีการพูดถึงข่าวปลอมมากที่สุด เพจที่เผยแพร่ข่าวปลอมมากที่สุด คือ เพจขายสมุนไพร โดยผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมมากที่สุด เพราะใส่ใจสุขภาพ แต่ไม่อ่านฉลาก หลงเชื่อโฆษณา
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เบื้องต้นต้องรู้จักสังเกตความผิดปกติของข่าวปลอม เช่น แหล่งที่มา หรือสงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจ นอกจากนี้ควรสร้างกลไกที่เข้มแข็งสกัดข่าวลวง ประกอบด้วยสนับสนุนให้ภาคประชาชนชี้เป้าข่าวลวง มีกลไกคุ้มครองเครือข่ายที่ทำงานด้านข่าวลวง
ประเด็นที่ 9. ชีวิตติดฝุ่นอันตราย PM2.5 และหมอกควัน
ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ที่เริ่มกล่าวถึงกันมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นที่มีการพูดถึงฝุ่น PM 2.5 บนโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่คือ ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม (66%) ทั้งคุณภาพชีวิต ร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากโรคต่างๆ ผิวที่เกิดผื่นคัน อีกทั้งสัตว์เลี้ยงก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 เช่นกัน
การเกิดฝุ่น PM 2.5 ยังส่งผลต่อคนที่เคยออกกำลังกายกลางแจ้ง ไม่สามารถทำได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งออกมาแก้ไขปัญหา โดยระบุว่า วิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐเป็นการแก้ที่ปลายเหตุมากกว่าที่ต้นเหตุ เช่น การฉีดน้ำเพื่อลด PM 2.5 อย่างไรก็ตาม บางส่วนมองว่าปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่จัดการได้ยาก และไม่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา ปัญหาฝุ่นละออง หรือควันพิษ สาเหตุหลักส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ หากปรับพฤติกรรมก็จะช่วยลดการก่อมลพิษอากาศได้ ขอเพียงร่วมมือกันดังเช่น รถยนต์ ควรใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หรือน้ำมันดีเซลกลั่นอุณหภูมิต่ำ สำหรับรถเครื่องยนต์ดีเซล เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา ติดตั้งอุปกรณ์กรองไอเสีย เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งที่มีมลพิษน้อย หันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน
ขณะเดียวกันต้องลดการเผาเศษพืชและวัสดุการเกษตร โดยควรนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ รวมไปถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้รอบบ้าน เพื่อช่วยกรองฝุ่นและดูดมลพิษ เลิกสูบบุหรี่ หมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย
ประเด็นที่ 10. ขยะอาหาร อาหารส่วนเกิน
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ขยะในไทยเกินครึ่งเป็นอาหารที่ถูกทิ้ง แต่ละคนจะสร้างขยะอินทรีย์ที่บางส่วนเป็นขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย และขยะอาหารที่ว่า ไม่ใช่แค่เศษอาหารเหลือทิ้งเท่านั้น บางส่วนยังเป็นแค่อาหารส่วนเกิน คือทิ้งเพราะกินไม่ทัน ขายไม่ทัน หรือคิดว่าหมดอายุ ทั้งที่จริงๆ แล้วยังสามารถรับประทานได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นอาหารส่วนเกินหรือขยะอาหาร เส้นทางสุดท้ายก็มักจะไปรวมกันในกองขยะ และด้วยวิธีจัดการขยะของประเทศไทยที่ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก ทำให้อาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา นอกจากนี้ปัญหาในการจัดการขยะอาหารของไทย ไม่ใช่แค่เพียงวิธีจัดการขยะทั่วไป ยังรวมถึงวิธีทิ้งขยะของคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้แยกขยะ
สำหรับแนวทางในการลดขยะอาหาร และอาหารส่วนเกิน ดังนี้ 1.ป้องกันการเกิดขยะอาหารจากห่วงโซ่อาหาร เช่น ภาคเอกชนพัฒนาระบบการสั่งสินค้า เพื่อลดการสั่งสินค้าเหลือ จัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะอาหารตามปริมาณ 2. จัดสรรอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น บริจาคให้ผู้ยากไร้ นำมาขายราคาถูก จำหน่ายเป็นอาหารสัตว์ 3.นำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล เช่น ทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร ผลิตก๊าซชีวภาพ 4.กำจัดเพื่อนำพลังงานมาใช้ใหม่ เผาเพื่อผลิตพลังงานความร้อน และ5.กำจัดทิ้ง
ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของโรคที่เกิดขึ้น มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เชื่อว่าทั้ง 10 ประเด็นเสี่ยงทางสุขภาพที่ทาง สสส.และภาคีเครือข่าย ได้สะท้อนออกมาในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้คนไทย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตให้เหมาะสม และพร้อมที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ตลอดปี 2564
………………………………
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลประกอบจาก หนังสือ ThaiHealth WATCH 2020