‘พาณิชย์’ เผยเตรียมลงนามความตกลง E-Commerce ของอาเซียน และถกเข้มเร่งเจรจา RCEP เตรียมเสนอผลคืบหน้าต่อการประชุมผู้นำ 16 ชาติ RCEP ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 10 – 15 พฤศจิกายน 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จะร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะลงนามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนในอาเซียน พัฒนาความเชื่อมั่นของการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาและขับเคลื่อนอาเซียนให้เติบโตอย่างทั่วถึง รวมทั้งจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี RCEP หวังเร่งผลักดันประเด็นคงค้างให้ได้ข้อสรุปตามเป้าหมายความสำเร็จของปีนี้ ก่อนที่จะรายงานความคืบหน้าการเจรจาเสนอต่อผู้นำ RCEP นางสาวชุติมา กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้รับมอบหมายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Council ซึ่งจะพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารหลายฉบับ อาทิ 1) กรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ที่จะเป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงถึงกันได้มากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า รักษาความปลอดภัยของข้อมูล พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล 2) เอกสารหลักการสำคัญเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน ที่จะช่วยพัฒนาแนวปฏิบัติด้านกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอาเซียน และส่งเสริมความร่วมมือด้านกฎระเบียบภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม รวมทั้ง AEC Council จะหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การติดตามและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 (AEC Blueprint 2025)
สำหรับการประชุมระดับผู้นำในครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะมีการพบหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ซึ่งในปีนี้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) การจัดตั้งเวทีหารือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในเรื่องการปรับประสานยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาคอาเซียน การหารือเพื่อพัฒนางานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการจัดตั้งคณะทำงานด้านการปฏิรูปการอำนวยความสะดวกทางการค้า
ในปี 2560 อาเซียนมีการส่งออกรวมมูลค่า 1.31 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.4 ของมูลค่าการส่งออกของโลก และมีการนำเข้ารวมมูลค่า 1.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.9 ของมูลค่าการนำเข้าของโลก โดยอาเซียนมีคู่ค้านอกภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกมีสัดส่วนการส่งออกภายในกลุ่มอาเซียน ร้อยละ 24.7 และมีสัดส่วนนำเข้าจากประเทศภายในกลุ่มอาเซียน ร้อยละ 22.2
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันมากถึง 85,127 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.7 โดยอาเซียนยังครองตำแหน่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้ามากถึงร้อยละ 22.6 รองลงมาเป็นประเทศจีน (ร้อยละ 15.7) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 11.8)
—————————————
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ