วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่อง “การเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า ๓๐๐ คน ประกอบด้วยบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐ และสมาคมผู้ประกอบการภาคเอกชน รวมทั้งผู้แทนคณะทูตและองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ อาคารอวานี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) ข้อ ๘ รับรองว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอันมีประสิทธิผลจากศาลที่มีอำนาจแห่งรัฐ ต่อการกระทำอันล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ขณะที่หลักการ UNGPs ภายใต้เสาหลักที่ ๓ ข้อ ๒๕ กำหนดให้รัฐต้องมีกระบวนการที่ทำให้แน่ใจได้ว่า เหยื่อหรือผู้เสียหายสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลไกทางศาลหรือกลไกที่นอกเหนือจากศาล หรือกระบวนการทางปกครอง ดังนั้น การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพสำหรับบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบกฎหมายต่าง ๆ รวมถึงกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การสัมมนาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาร่วมกันอภิปรายแสวงหาแนวทางและความร่วมมือระหว่างกลไกต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนหลักการ UNGPs โดยเฉพาะเสาหลักที่ ๓ การเข้าถึงการเยียวยาให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทยต่อไป
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ภายใต้เสาหลักที่ ๓ ของหลักการ UNGPs ได้แบ่งกลไกการเยียวยาภายในประเทศต่อกรณีที่เกิดผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชนจากกิจกรรมทางธุรกิจเป็น ๓ กลไก ได้แก่ ๑) กระบวนการยุติธรรม (State-Based Judicial Mechanisms) ซึ่งต้องมีความเป็นกลางและเที่ยงธรรม ๒) กลไกการร้องทุกข์ของรัฐที่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม (State-Based Non Judicial Mechanisms) เช่น กระบวนการร้องเรียนและอุทธรณ์ภายในหน่วยงานทางปกครอง ศูนย์ดำรงธรรม รวมถึง กสม. ซึ่งสามารถเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกทำให้เกิดแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า รวมทั้งช่วยบรรเทาภาระทางกฎหมายได้ และ ๓) กลไกการร้องทุกข์ที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Based Judicial Mechanisms) เช่น หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนภายในบริษัท ซึ่งปัจจุบันเมื่อปรากฏว่าธุรกิจกระทำหรือมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสิทธิมนุษยชน บริษัทถูกคาดหวังให้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการบรรเทาผลกระทบต่อบุคคล/ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
Professor Surya Deva รองประธานคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ของสหประชาชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาของสหประชาชาติพบว่า การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วยองค์ประกอบ ๕ ประการ ที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ ๑) ผู้ทรงสิทธิ (ผู้ได้รับผลกระทบ) มีสถานะที่หลากหลายแตกต่างกันด้วยวัย เพศสภาพ สถานะทางสังคม ฯลฯ ซึ่งย่อมได้รับผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนจากกิจกรรมของภาคธุรกิจในบริบทที่ต่างกัน ๒) การเข้าถึงกระบวนการเยียวยาต้องอยู่ในราคาที่จ่ายได้ ดำเนินการอย่างรวดเร็ว และแก้ปัญหาได้เพียงพอ ๓) กระบวนการร้องเรียนต้องไม่ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ หรือ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวจากการร้องเรียน เช่น การประท้วงอย่างสันติตามสิทธิขั้นพื้นฐาน จะต้องไม่ถูกคุกคามหรือฟ้องร้องดำเนินคดี ๔) ผู้ทรงสิทธิควรเป็นผู้ออกแบบการเยียวยาที่จะได้รับโดยเปรียบเทียบได้กับการเลือก “ช่อดอกไม้ของกระบวนการเยียวยา” คือ มีการเยียวยาที่รวมหลายกระบวนการเข้าด้วยกัน เช่น มีทั้งการขอโทษต่อสาธารณะ การจ่ายค่าชดเชย หรือการดำเนินคดีต่อบริษัท และ ๕) ถนนทุกสายต้องมุ่งไปสู่การเยียวยา คือ ต้องสร้างให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายในการเข้าถึงการเยียวยา เช่น มีทั้งกลไกตามกระบวนการยุติธรรม กลไกการร้องทุกข์ของรัฐที่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม และกลไกร้องทุกข์ภายในบริษัท เป็นต้น
“กลไกการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ หลักการ UNGPs แม้จะไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายเช่นเดียวกับกติกาสากลอื่น ๆ แต่ก็ควรมีการออกกฎหมายรองรับเพื่อให้หลักการ UNGPs บังคับใช้ในทางปฏิบัติได้ ทั้งนี้ กระบวนการเยียวยาควรเป็นได้ทั้งกลไกแก้ไขหลังเกิดปัญหาและเป็นมาตรการเชิงป้องกันก่อนเกิดปัญหา เช่น หากมีบริษัทหนึ่งที่กำลังจะมาแย่งชิงที่ดินจากชุมชน ชุมชนสามารถขอให้ศาลแทรกแซงโดยมีคำสั่งระงับการใช้พื้นที่ หรือ สั่งให้มีการทบทวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบจากโครงการเสียใหม่ในกรณีที่เห็นว่ากระบวนการเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมยังต้องตระหนักถึงประเด็นการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนในแง่ของการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกและความเป็นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการเยียวยาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของเอกชนสัญชาติต่าง ๆ ด้วย” Professor Surya Deva กล่าว
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ