วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.30 น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการร่วมพบปะผู้เข้าอบรมและมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ“โครงการต้นกล้า…ยุวอาสาพัฒนาสังคม” (อพม.น้อย) ณ ห้องประชุมดินแดง โรงแรมปรินซตัน ดินแดง กรุงเทพมหานคร
นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาและสวัสดิการเห็นถึงความสำคัญของอาสาสมัคร จึงมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาส่วนร่วมเป็นจิตอาสาพัฒนาสังคม โดยน้อมนำพระดำริทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกต่อส่วนรวมปลูกฝังการเป็น “จิตอาสา” พัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนจิตอาสาให้เป็นกลไกในพื้นที่ และสามารถปฏิบัติงานขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการสังคมในระดับชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐแก่กลุ่มเป้าหมาย
นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ขับเคลื่อน “โครงการต้นกล้า…ยุวอาสาพัฒนาสังคม” มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นและเสริมสร้างความเป็นจิตอาสาให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความเป็นผู้นำ และเป็นผู้กล้าที่จะมาพัฒนาสังคม ทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 10 – 19 ปี เราเรียกแกนนำ ยุวอาสาเหล่านี้ว่า “อพม.น้อย” อพม.น้อยจะทำงานร่วมกับอาสาสมัครภาคประชาสังคมและเครือข่ายต่างๆในระดับพื้นที่ โดยมี อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นพี่เลี้ยง ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการช่วยเหลือ เฝ้าระวัง ร่วมกันป้องกัน แก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่/ชุมชน ซึ่งเมื่อปีงบประมาณ 2561 อพม.น้อยได้ทดลองปฏิบัติงานจริงในชุมชนต้นแบบ 4 พื้นที่ ดังนี้ 1) เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 2) เทศบาลตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา 3) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และ 4) ชุมชนวัดช่างเหล็ก เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร การปฏิบัติงานของเหล่ากลุ่มยุวอาสาเหล่านี้เป็นไปอย่างไม่ย่อท้อ ทุกคนมีความตั้งใจและตั้งใจที่จะเห็นสังคมดีขึ้น ซึ่งต่อมาเกิดการขยายผลและพัฒนานวัตกรรมเพื่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในระดับพื้นที่
การจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียน “โครงการต้นกล้า…ยุวอาสาพัฒนาสังคม” (อพม.น้อย) ในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์สังเคราะห์ ถอดบทเรียนปัจจัยแห่งความสำเร็จ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ ต้นกล้า…ยุวอาสาพัฒนาสังคมในปี 2561 และนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การประชุมฯมีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เจ้าหน้าที่กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เจ้าหน้าที่กองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่กองหนึ่งใจ…เดียวกันฯ และเจ้าหน้าที่จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากระบวนการสร้างเสริมจิตอาสาแก่เด็กและเยาวชน เพราะเราเชื่อว่า “อพม.น้อย” จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนพลังแห่งการ “ให้” ไปสู่ “การแบ่งปันที่ยิ่งใหญ่” สามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคมให้น่าอยู่ เป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทร “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางนภา กล่าวในตอนท้าย