กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะเทคนิคกดจุดคลายง่วง ช่วงเดินทางปีใหม่

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำประชาชน ผู้ขับรถกดจุด นวดหน้า ผ่อนคลายเพื่อลดอาการง่วงระหว่างเดินทางไกลช่วงเทศกาลปีใหม่

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์ 2563 ของสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง เสียชีวิต 373 คน และบาดเจ็บ (Admit) 3,499 คน โดยวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บ (Admit) สูงสุด ดังนั้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่ ต้องระมัดระวัง มีสติ และรู้จักหาวิธีคลายอาการง่วงโดยการพักรถและพักร่างกาย ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีศาสตร์การนวดหน้า 7 ท่า และกดจุด 5 ท่า คลายอาการง่วง มาฝากกันดังนี้

7 ท่านวดหน้าผ่อนคลายอาการง่วง ซึ่งมาจากท่าฤาษีดัดตน ประกอบด้วย

ท่าที่ 1 ท่าเสยผม : ใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางกดที่คิ้วทั้งสองข้างพร้อมกัน จากนั้นค่อยๆ เลื่อนมือทั้ง 2 ข้าง ขึ้นไปบนศีรษะจนถึงท้ายทอยในท่าเสยผม ทำซ้ำ 3-5 รอบ

ท่าที่ 2 ท่าทาแป้ง : ใช้นิ้วกลางทั้งสองข้างวางข้างจมูกพร้อมกัน ค่อย ๆ กดพร้อมกับลูบขึ้นไปจนถึงบริเวณหน้าผาก แล้วแยกมือทั้งสองข้างออกโดยใช้ปลายนิ้วมือจรดกันที่กลางหน้าผาก จากนั้นลูบมือทั้งสองข้างไปทางหางคิ้ว ผ่านแก้มไปถึงปลายคาง ทำซ้ำ 3-5 รอบ

ท่าที่ 3 ท่าเช็ดปาก : ใช้ฝ่ามือซ้ายวางทาบแก้มขวา โดยใช้ปลายนิ้วก้อยวางที่ปลายติ่งหูขวา ลากมือมายังด้านซ้ายพร้อมกับเม้มริมฝีปากโดยให้ฝ่ามือแนบสนิทขณะทำ ทำสลับกับมือขวา ทำซ้ำ 3-5 รอบ

ท่าที่ 4 ท่าเช็ดคาง : ใช้หลังมือซ้ายทาบใต้คาง ให้ปลายนิ้วกลางอยู่ที่ติ่งหูขวาแล้วลากมือไปทางซ้าย ผ่านคางไปสิ้นสุดที่ใต้หูซ้าย จากนั้นเปลี่ยนใช้มือขวาทำอีกด้านเช่นเดียวกัน ทำซ้ำ 3-5 รอบ

ท่าที่ 5 ท่ากดใต้คาง : วางปลายนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างตรงกลางกล้ามเนื้อใต้คางโดยวางนิ้วในมุมตั้งฉากกับคาง จากนั้นก้มหน้าเพื่อต้านแรงกดนิ่งค้างไว้ 10 วินาที แล้วเลื่อนจุดกดจนสุดแนวขากรรไกรทั้งสองข้าง ประมาณ 3-4 จุดทำซ้ำ 3-5 รอบ

ท่าที่ 6 ท่าถูหน้าหูและหลังหู : ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางทั้งสองข้างคีบหูหลวม ๆ โดยใช้ฝ่ามือแนบกับแก้ม ถูนิ้วมือขึ้นลงนับเป็น 1 ครั้ง ทำซ้ำ 20 ครั้ง

ท่าที่ 7 ท่าตบท้ายทอย : ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างปิดหูไว้ โดยใช้ปลายนิ้วกลางจรดกันบริเวณท้ายทอยกระดกนิ้วมือทั้งสองข้างให้มากที่สุด แล้วตบที่ท้ายทอยพร้อมกันโดยไม่ยกฝ่ามือ ทำซ้ำ 20 รอบ

ส่วนการกดจุดหยุดง่วงเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีน มี 5 ท่า ดังนี้

จุดที่ 1 ใช้นิ้วชี้กดกึ่งกลางระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง ค้างไว้ 30 วินาที

จุดที่ 2 ใช้นิ้วชี้กดบริเวณร่องใต้จมูก ค้างไว้ 30 วินาที จุดนี้สำคัญที่สุดสามารถฟื้นสติให้แก่ผู้ที่หมดสติได้

จุดที่ 3 ใช้นิ้วคลึงบริเวณห่างจากหางตา ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ทั้งซ้ายและขวา

จุดที่ 4 ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งขวาและซ้าย กดบริเวณท้ายทอยทั้งสองข้าง

จุดที่ 5 ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยของมือข้างขวา นวดตามแนวบ่าข้างซ้าย ทำสลับกันทั้งสองข้าง

Print

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ท่ากดจุดเหล่านี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในการคลายอาการง่วง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้นั้นต้องดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้พร้อมขณะเดินทาง ก่อนเดินทางต้องพักผ่อนเพียงพอ หากง่วงขณะขับรถต้องหยุดพักรถและคลายกล้ามเนื้อ หรือพักระหว่างทางในที่ที่ปลอดภัย อุบัติเหตุต้องร่วมด้วยช่วยกันป้องกันจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ สนใจข้อมูลสามารถสอบถามข้อมูล ได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทรศัพท์ 02 149 5678 หรือที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th