พม. จับมือ ร.พ.รามาธิบดี และ สสส. แถลงการสร้างความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อพิษภัยความรุนแรงในครอบครัว

ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมลีลาวดี โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ รณชัย คงสกุล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว พร้อมด้วย ดร. นรีมาลย์ นีละไพจิตร อาจารย์โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และ อาจารย์สมพร โชติวิทยธารากร ผู้จัดการโครงการฯ แถลงข่าว ในประเด็น “ความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อพิษภัยความรุนแรงในครอบครัว” เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

นายเลิศปัญญา  กล่าวว่า เนื่องด้วยสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว คือ สาเหตุจากแนวคิดของสังคม อันได้แก่ ค่านิยม ความเชื่อ จารีตที่ยึดถือกัน เช่น แนวความคิดเรื่อง ผู้ชายเป็นใหญ่ที่เชื่อมโยงกับความคิดว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว ความสำคัญในการรักษาครอบครัว ในการแก้ไขแนวคิดทางสังคมดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของ ทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมทั้งเป็นการสร้างกระแสทางสังคมในการสร้างความร่วมมือจากประชาชนในการยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่มีผลกระทบทั้งต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2561 พม. โดย สค. ได้กําหนดสร้างกระแสสังคมให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาและนำไปสู่การรวมพลังของทุกภาคส่วนในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “ He For She : ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” และมุ่งส่งเสริมผู้ชายให้มีบทบาทและส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงฯ ในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.30 – 11.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทําเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ สถานทูต ศิลปิน ดารา นักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปรวมประมาณ 500 คน โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงฯ ในปี 2562 รวมทั้งแสดงความมุ่งมั่นว่าหลังจากการจัดงานที่ทําเนียบรัฐบาลแล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ กําหนดจัดงานรณรงค์ฯ ให้สังคมตระหนักถึงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคล ในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยกําหนดจัดงานเดินรณรงค์ยุติ ความรุนแรงฯ ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-18.00 น. ณ ลานพระประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถึง ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,000 คน ประกอบด้วย นักเรียนนายร้อยตํารวจ ทหารจากกองบัญชาการทหารบก กองบัญชาการทหารเรือ กองบัญชาการทหารอากาศ นักเรียน/นักศึกษา และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ในการนี้ ทุกจังหวัด ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จัดงานรณรงค์ฯ พร้อมกันทั่วประเทศ (KICK OFF) ในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ด้วย

ทางด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย กล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิสตรีเป็นแนวทางสากลที่ทั่วโลกและรวมทั้งสังคมไทยต่างยอมรับและตระหนักให้ความสำคัญ จนนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายสร้างมาตรการป้องกันและคุ้มครองตามกฎหมายทว่า สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในครอบครัวปัจจุบันยังเกิดขึ้นทุกวันและที่สำคัญ ระดับการใช้ความรุนแรงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ในปี2559 องค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยติดอันดับสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย  กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเป็นตัวชี้วัดถึงแนวโน้มของมาตรการต่างๆที่ดำเนินการไปแล้วและการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต่างๆในการดำเนินงานต่อไปศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของ สสส. ได้จัดทำเครื่องมือที่ได้มาตรฐานและดำเนินการสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 2,280 ครัวเรือน พบว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีสัดส่วนความชุก ร้อยละ 34.6 ความรุนแรงทางด้านจิตใจมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 (ร้อยละ32.3) ความรุนแรงทางร่างกายพบประมาณ ร้อยละ10 และความรุนแรงทางเพศ มีประมาณ ร้อยละ 5

สำหรับ อาจารย์ ดร.นรีมาลย์  ได้กล่าวว่า ในส่วนของความรุนแรงทางเพศ กลุ่มตัวอย่างที่เคยถูกใช้ โดยในจำนวนนี้มีประมาณร้อยละ 93 หรือเกือบทั้งหมดของผู้ที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ ถูกใช้ความรุนแรงทางเพศในลักษณะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจและประมาณ 1ใน4 ถูกใช้กำลังบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีการถูกกระทำลวนลาม อนาจารและทำกิจกรรมทางเพศที่ไม่ชอบ

นอกจากนี้ อาจารย์ สมพร ได้กล่าวถึงการรับรู้ การจัดการและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงพบว่า รับทราบว่ามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 64.4  แต่ส่วนใหญ่ใช้ความอดทนในการแก้ปัญหา กลุ่มตัวอย่างที่เคยขอความช่วยเหลือมีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ที่น่าสังเกตคือผู้ถูกกระทำความรุนแรงฯส่วนมากที่ไม่ไปขอความช่วยเหลือ คิดว่าความรุนแรงฯเป็นเรื่องส่วนตัว ครึ่งหนึ่งของครอบครัวที่มีความรุนแรงคิดว่า เป็นความผิดของทั้งสองฝ่ายคือทั้งผู้ใช้ความรุนแรงและผู้ถูกกระทำ

สุดท้าย นายเลิศปัญญาได้ฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกท่าน ว่า “หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมในรูปแบบอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม. โดยโทรฟรีที่เบอร์โทรศัพท์ 1300 ได้ทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข หรือสถานีตำรวจทุกแห่ง ขอบคุณครับ”

 

———————–