กรมปศุสัตว์ชูมาตรการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตก

นายสัตวแพทย์สมชวน  รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดี และโฆษกกรมปศุสัตว์  แถลงถึงกรณีที่นายมาโนช  ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ในประเด็น ราคาไข่ไก่เกษตรกรขายไข่คละได้ ณ  วันที่ 3 พ.ย. 2561 มีราคาอยู่ที่ 1.40 – 2.30 บาท ซึ่งต่ำสุดในรอบ 30 ปี และสวนทางกับราคาอาหารสัตว์ 33 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้งปัจจุบันราคาไข่ไก่เกินความต้องการมีมากกว่า 10 ล้านฟอง เนื่องจากมีการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์มากเกินไป ซึ่งแม้เกษตรกรได้พยายามปลดแม่พันธุ์ไก่ทั่วประเทศแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ขณะที่ปลายทางผู้บริโภคยังคงต้องรับภาระการซื้อไข่ไก่ราคาแพงอยู่ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบกรณีดังกล่าวนั้น  กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์หรือ Egg Board ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.61 ถึง ต้นเดือน ต.ค.61 ราคาไข่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ย 2.54 บาท (เบอร์ 0 ราคา 3.54 บาท, เบอร์ 1 ราคา 3.04 บาท, เบอร์ 2 ราคา 2.75 บาท, เบอร์ 3 ราคา 2.55 บาท, เบอร์ 4 ราคา 2.45 บาท, เบอร์ 5 ราคา 2.24 บาท, และเบอร์ 6ราคา 1.85 บาท) โดยราคาขายไข่แต่ละภูมิภาค (ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) อาจแตกต่างกัน 10-20 สตางค์ จากต้นเดือน ต.ค.61 จนถึงปัจจุบัน ราคาไข่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ย 2.30 บาท (เบอร์ 0 ราคา 3.30 บาท, เบอร์ 1 ราคา 2.80 บาท, เบอร์ 2 ราคา 2.55 บาท, เบอร์ 3 ราคา 2.35 บาท, เบอร์ 4 ราคา 2.25 บาท, เบอร์ 5 ราคา 2.00 บาท, เบอร์ 6 ราคา 1.65 บาท) ส่วนสาเหตุที่ราคาไข่ลดลงตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.61 จนถึงปัจจุบันนั้น  เนื่องจากการบริโภคลดลงช่วงเทศกาลกินเจและปิดเทอม ทำให้มีปริมาณไข่ที่สะสมจำนวนมาก และไข่ที่ออกมาช่วงเวลานี้มีขนาดฟองเล็ก  ซึ่งข้อมูลสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบันระบุว่า มีปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ที่ให้ผลผลิต 521,860 ตัว แม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 56-57 ล้านตัว ผลผลิตไข่เฉลี่ยประมาณ 44-45 ล้านฟอง/วัน  ข้อมูลราคาอาหารไก่ไข่ระยะให้ไข่ ในระหว่างเดือน ม.ค.-ต.ค.61 อยู่ที่ 11-13 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และวัตถุดิบที่ใช้ผลิต

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการของปศุสัตว์ ตลอดปี 61 ถึงปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ร่วมกับสมาคมฯ และผู้นำเข้าไก่ไข่พันธุ์ ผลักดันการส่งออกไข่ไปจำหน่ายต่างประเทศ (PS Support) ตั้งแต่เดือน เม.ย.61 จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 258 ตู้คอนเทนเนอร์ (84 ล้านฟอง) ปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง   ที่อายุ 72 สัปดาห์ จำนวน 857,486 ตัว ตรวจสอบปริมาณการนำเข้า การเลี้ยง และการปลด PS ไม่ให้เกินอายุ 72 สัปดาห์ ตามมติ Egg Board อย่างเคร่งครัด  ประชุมหารือร่วมกับ 16 บริษัทผู้นำเข้าและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์-ปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (24 ต.ค.61) และมีมติปรับลดแผนการนำเข้าปี 62 ลง 10% ของแผนปี 61 ซึ่งจะส่งผลให้ปี 62 มีปริมาณพ่อแม่พันธุ์ (PS) ไม่เกิน 500,000 ตัว ปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP)  ไม่เกิน 4,050 ตัว แม่ไก่ไข่ยืนกรงประมาณ 50 ล้านตัว ผลผลิตไข่ประมาณ 42-43 ล้านฟอง/วัน ซึ่งจะใกล้เคียงกับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกทั้งไข่สดและผลิตภัณฑ์ไข่แปรรูป แนวโน้มราคาไข่คละหน้าฟาร์มน่าจะค่อยๆ ปรับขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เนื่องจากมาตรการซึ่งประกอบด้วย เร่งรัดเพิ่มการส่งออกไข่ไปจำหน่ายต่างประเทศ การปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรง การร่วมมือกับกรมการค้าภายใน รวมถึงโรงเรียนเปิดเทอม และกำลังจะเข้าช่วงเทศกาลปลายปี ประชาชนบริโภคไข่เพิ่มขึ้น ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น กรมปศุสัตว์ได้ประสานกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตามที่สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ร้องขอ โดยเบื้องต้นรับแจ้งจากกรมการค้าภายใน จะเชิญหารือเพื่อแก้ปัญหาปริมาณไข่ที่ค้างสะสม และการรักษาเสถียรภาพราคา ภายในสัปดาห์หน้า (5-9 พ.ย.61) ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีแผนกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ภายในเดือน พ.ย.61 วาระพิจารณาแผนการนำเข้าพ่อแม่และปู่ย่าพันธุ์ ปี 62 เพื่อขอมติปรับลดแผนการนำเข้าและเลี้ยง PS ลงอีก 10% ของปี 61 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป

*********************************
ข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์