สภาหอฯ ชู “Happy Model” เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต ผนึกกำลัง อว. พัฒนาศักยภาพคนและผู้ประกอบการด้วยองค์ความรู้มหาวิทยาลัย

วันที่ 23 ธันวาคม 2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวที Recovery Forum รับโควิด-19 ระลอกใหม่ เชิญ นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แลกเปลี่ยน “แนวทางขับเคลื่อน Happy Model”

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเคยสร้างรายได้ให้ประเทศไทยรวม 3 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามา เราจะทำอย่างไรกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป

Medical and Wellness Tourism เป็นเป้าหมายที่จะช่วยดึงรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศกลับมา เพราะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนโมเดลอารมณ์ดี มีความสุข หรือ แฮปปี้ โมเดล เพื่อรองรับแนวทางดังกล่าว โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความแข็มแข็งและสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ชุมชน ซึ่งแฮปปี้ โมเดล ประกอบด้วย 1. กินดี อาหารอร่อย สะอาด มีประโยชน์ และปลอดภัย 2. อยู่ดี ที่พักได้มาตรฐาน ดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยะ น้ำเสีย และสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม (WiFi) กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและใจ เช่น นวด/สปา ของท้องถิ่น นั่งสมาธิ 3. ออกกำลังกายดี เล่นกีฬาและร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ขี่จักรยาน วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ดำน้ำ ปีนเขา มวยไทย และ 4. แบ่งปันสิ่งดีๆ แบ่งปันความรู้ทั้ง 2 ทางท้องถิ่นแนะนำสินค้าและสถานที่ Unseen ทำกิจกรรมกับชุมชน อาสาสมัคร เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เช่น ปลูกป่า สอนหนังสือเด็ก เป็นต้น

“ปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อน Wellness Tourism เพื่อตอบรับ Segments ต่างๆ คือ การท่องเที่ยวและบริการของไทยต้องมีจุดขาย มีเรื่องราวที่แตกต่าง และมีกิจกรรมต่อเนื่องที่น่าสนใจแต่ละพื้นที่ มีการประชาสัมพันธ์จุดเด่น และประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่างๆ มีข้อมูลที่ทันสมัยอยู่เสมอและนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาต่อยอด การรักษามาตรฐานในระยะยาว การสร้างการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึก สร้างการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น/ชุมชน และท้องถิ่นแนะนำสถานที่ Unseen ใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

 

นายกลินท์ กล่าวอีกว่า อีกปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อน Wellness Tourism คือ เราต้องพัฒนาศักยภาพคนและผู้ประกอบการรอบด้านตามโมเดลที่วางไว้ ด้านกินดี ต้องพัฒนาด้าน Storytelling การบริการ บรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ โภชนาการ ด้านอยู่ดี ต้องมีการพัฒนาคนและผู้ประกอบการให้มีศักยภาพเรื่อง Service Mind การมีมาตรฐานโรงแรม มาตรฐานการนวดสปา การจัดกิจกรรมในโรงแรม การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลความปลอดภัย ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ด้านออกกำลังกายดี ควรพัฒนามัคคุเทศก์ด้านกีฬา เช่น ไกด์จักรยาน มีมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อยกระดับสู่มาตรฐานโลก ด้านการแบ่งปันดีๆ ควรมีการพัฒนาศักยภาพคนและผู้ประกอบการด้านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อแชร์เรื่องราวดีๆ การเป็นเจ้าบ้านที่ดี เช่น มัคคุเทศก์น้อย มัคคุเทศก์สูงอายุ มีความรักบ้านเกิด รู้สึกเป็นเจ้าของ รู้จักการสร้างอัตลักษณ์ให้ท้องถิ่น และการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งและโปร่งใส

 

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวชื่นชมแพลตฟอร์มแฮปปี้ โมเดล ของสภาหอการค้า ที่มีการวางแนวทางดำเนินงานเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต ที่จะเน้น Medical and Wellness Tourism มากขึ้น และมองว่าการพัฒนาศักยภาพคนและผู้ประกอบการตามแฮปปี้ โมเดล ทางกระทรวง อว. สามารถร่วมมือได้ในการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นทั้งในส่วนการให้การรับรองทางวิชาชีพ ตลอดจนการ Upskill Reskill บ่มเพาะ ฝึกทักษะการประกอบวิชาชีพรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการให้เหมาะสมกับบุคลากรแต่ละพื้นที่ ด้วยการใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยมาช่วย เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับชุมชน อีกทั้งในส่วนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ก็มีประสบการณ์ในการทำวิจัยในพื้นที่ มีเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่จำนวนมากที่สามารถนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนและต่อยอดได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมองว่าประเด็นสำคัญในการส่งเสริมเรื่อง Medical and Wellness Tourism คือการทำเรื่องการรับรองมาตรฐาน และมีช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าแต่ละบริการมีมาตรฐานหรือไม่และรับรองโดยหน่วยงานใด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม สอวช. และสภาหอการค้า ได้นัดหมายหารือเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนแฮปปี้ โมเดล ด้านการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโมเดล ตลอดจนแนวทางพัฒนาศักยภาพคนและผู้ประกอบการเพื่อรองรับโมเดลดังกล่าวอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า

—————————————-