ฤดูกาลทานส้มเขียวหวานแสนอร่อย มารู้จักการผลิตส้มเขียวหวานคุณภาพดีและปลอดภัยกันค่ะ

โดยปกติส้มเขียวหวานที่เช้าสู่ตลาดเดือนธันวาคม ถือว่ามีรสชาติอร่อยมากสุดในรอบปี เพราะต้นส้มเจริญเติบโตอย่างเต็มที่หลังผ่านฤดูฝน และผ่านช่วงฤดูหนาวมาสักระยะแล้ว ในทางวิชาการเท่ากับว่าเป็นระยะที่ต้นไม้พักตัว จะไม่มีการแตกใบอ่อน หรือแตกราก อาหารที่ปรุงได้ทั้งหมดก็จถูกเก็บสะสมในผลส้ม จึงเรียกได้ว่าเดือนธันวาคมเป็นฤดูกาลส้มเขียวหวานที่มีรสชาติอร่อยสุดในรอบปี”

กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ให้บริการทางการเกษตรและผลิตปัจจัยทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนและจำหน่ายแก่เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับความต้องการสินค้าเกษตรปลอดภัยที่กำลังเป็นกระแสนิยมของตลาดปัจจุบัน เกษตรกรและผู้บริโภคทั่วไปจึงควรทราบเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่จำเป็นสำหรับการผลิตส้มเขียวหวานที่ปลอดภัยนั้นควรปฏิบัติอย่างไร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ส้มเป็นผลไม้กึ่งเขตร้อนมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีสารอาหารที่สำคัญเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินซี และวิตามินเอ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย เป็นผลไม้ที่มีอายุยืนนานให้ผลผลิตหลายปีติดต่อกัน ตลอดจนสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี และปลูกได้เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย เกษตรกรจึงนิยมปลูกกันมาก สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก ได้แก่ ส้มโอ มะนาว ส้มเกลี้ยง และส้มตรา การเก็บเกี่ยวส้มจะนับจากวันออกดอกถึงเก็บผลใช้เวลา 8-9 เดือน

การผลิตส้มเขียวหวานให้มีคุณภาพดีและปลอดภัยนั้น อันดับแรก ที่ตั้งสวนต้องอยู่ห่างจากแหล่งที่มีการระบาดของโรคอย่างน้อย 10 กิโลเมตร ลักษณะดิน ควรมีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ pH อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ระดับน้ำใต้ดินลึกมากกว่า 1 เมตร อันดับสอง คือ การใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยให้เป็นไปตามการวิเคราะห์ดินซึ่งควรทำ 1-2 ปี ต่อครั้ง เพื่อใส่ปุ๋ยตามสูตรและอัตราที่เหมาะสม ถ้าpH ต่ำกว่า 5.5 (เป็นกรด) ควรใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 1-2 กก./ต้น ปีละ 1-2 ครั้งในฤดูแล้งให้น้ำตามปกติ

การปลูกในปีแรกให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10-20 กก./ต้น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 20-50 กก./ต้นในปีที่ 2-4 โดยใส่ปีละครั้งช่วงปลายฤดูฝน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15+46-0-0 (1:1) อัตรา 0.5-1.0 กก./ต้นในปีแรก โดยแบ่งใส่ 4-6 เดือนต่อครั้ง และอัตรา 1-2 กก./ต้น ในปีที่ 2-4  โดยใส่ 3-4 เดือนต่อครั้ง และเมื่อส้มมีอายุ 4 ปีขึ้นไป ให้ใส่ปุ๋ยดังนี้ ก่อนออกดอกใส่สูตร 12-24-12 อัตรา 1 กก./ต้น และพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อเพิ่มธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม และเมื่อถึงระยะติดผลให้ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี ทองแดง ใบรอน และแมงกานีส เป็นต้น โดยพ่นทางใบ ช่วงใกล้เก็บเกี่ยวใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น หลังเก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย 15-15-15+46-0-0(1:1) อัตรา 1-3 กก./ต้น พร้อมพ่นปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมและให้ป๋ยอินทรีย์ 20-50 กก./ต้น ให้น้ำ 20-40 ลิตร/ต้นทันทีหลังปลูก และให้อีกครั้งห่างจากครั้งแรก 2-5 วัน จนส้มตั้งตัว อย่าให้ส้มขาดน้ำจนมีอาการเหี่ยว ช่วงเวลาที่ให้น้ำคือ 08.00-10.00 และ 14.00-16.00 น. การบังคับน้ำ หลังส้มแตกใบอ่อน 60 วันในช่วงอากาศร้อน หรือ 90 วันในช่วงอากาศเย็น เริ่มงดการให้น้ำ ระยะเวลางดการให้น้ำขึ้นอยู่กับอายุ ขนาดทรงพุ่ม และสภาพดินฟ้าอากาศ โดยสังเกตจากการเหี่ยวของใบส้มเร็วขึ้นแต่ละวัน ถ้าใบเหี่ยวช่วงเวลา 10.00-11.00 น. ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการงดน้ำ หลังจากนั้นให้น้ำติดต่อกันจนส้มออกดอกติดผล

อันดับสาม ให้มีการตัดแต่งกิ่งควรทำอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกไปกระทั่งให้ผล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลแล้ว ลักษณะของกิ่งที่ควรแต่งออกคือ

1.กิ่งแขนงที่รกทึบด้านล่างและกลางลำต้น

2.กิ่งปลายยอดที่ห้อยลงชิดดิน

3.กิ่งอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ มีใบน้อย

4.กิ่งน้ำค้าง หรือกิ่งกระโดง

5.กิ่งที่มีลักษณะคดงอไขว้หรือพันกัน

6.กิ่งที่เป็นโรค หรือถูกแมลงวันทำลาย ตลอดจนกิ่งแห้งตาย

ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่งแล้ว ควรทาแผลด้วยคอปเปอร์อ๊อกซีคลอไรด์ หรือปูนแดง หรือปูนขาว เพื่อป้องกันเชื้อรา ภายหลังจากส้มเขียวหวานติดผลแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้

1.ปลิดผลออกบ้าง ในกิ่งที่ติดผลมาก

2.ตัดแต่งผลที่เป็นโรคออกแล้วให้นำไปฝังกลบหรือเผาเสีย

3.ค้ำยันกิ่ง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักเนื่องจากการรับน้ำหนัก หรือลมแรง

อันดับสี่ที่ต้องระวังแปลงปลูกให้ถูกสุขลักษณะและสะอาดอยู่เสมอ ดังนี้

1.กำจัดวัชพืช ควรจำกัดขณะวัชพืชยังเล็ก เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืช หรือติดไปกับผลผลิต

2.ควรเก็บวัชพืข เศษพืชโดยเฉพาะที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก

3.อุปกรณ์ เช่น กรรไกร เครื่องพ่นสารเคมี ภาชนะที่ใช้เก็บผลผลิต ฯลฯ หลังจากใช้งานแล้วต้องทำความสะอาด และเก็บให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

4.ภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้หมดแล้ว ให้ล้างทำความสะอาด นำน้ำที่ล้างไปพ่นป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำหรับภาชนะบรรจุให้ทำลายอย่างเหมาะสม เช่น ฝังดิน ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก

ศัตรูที่สำคัญ และข้อบังคับการหยุดใช้สารก่อนการเก็บเกี่ยว

1.โรคกรีนนิ่ง ป้องกันกำจัดโดยไม่ปลูกพืชอาศัยของแมลงพาหะ เช่น ต้นแก้ว พบต้นที่เป็นโรคต้องขุดและเผาทำลายนอกแปลงปลูก ป้องกันกำจัดเพลี้ยไก่แจ้โดยพ่นอิมิดาคลอพริด(10% LS) หยุดใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน

2.โรคทริสเทซ่า ป้องกันกำจัดโดย พบต้นที่เป็นโรคต้องขุดและเผาทำลายนอกแปลงปลูก ป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อนแมลงพาหะโดยพ่นคาร์โบซัลแฟน(20% EC) หยุดใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน

3.โรครากเน่าโคนเน่า ป้องกันกำจัดโดยใช้ต้นตอพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค เช่น ทรอยเยอร์ คลีโอพัตรา ปรับสภาพดินให้มี pH 5.5-6.5 โดยใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ ปีละ 1-2 ครั้ง ไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น ใช้สารเมทาแลคซิล(25% WP)

4.หนอนชอนใบ ป้องกันกำจัดโดยจัดการให้ส้มแตกใบอ่อนพร้อมกัน หากพบหนอนชอบใบมากกว่า 50 % ใช้สารอิมิดาคลอพริด(10% SL) หรือฟลูเฟนนอกซูรอน(5% EC) หยุดใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน

5.เพลี้ยไฟพริก ใช้สารอิมิดาคลอพริด(10% LS) หรือโฟลาโลน(35% EC) หยุดใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน

6.ไรแดง ใช้สารโปรปาไกด์ หยุดใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน

7.ไรสนิมส้ม ใช้กำมะถัน(80% WP) หยุดใช้สารกิอนเก็บเกี่ยว 1 เดือน

นอกจากนี้บางสวนที่มีเงินทุนและแรงงานมากอาจใช้วิธีการห่อผลส้มด้วยถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกใสร่วมกันเพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี ซึ่งการห่อผลส้มควรทำการห่อในระยะอายุผล 4.5 เดือน หลังดอกบานแล้วจะได้ผลดีที่สุด โรคเนื่องจากแมลงศัตรูพืชยังระบาดไม่มากสำหรับผลส้มในระยะนี้ กรณีการห่อผลส้มที่อายุ 6-7 เดือนก่อนการเก็บเกี่ยวก็สามารถทำได้เช่นกันเพราะจะเป็นการเสริมการป้องกันแมลงเข้าทำลายและลดการใช้สารเคมีในระยะสุดท้ายก่อนการเก็บเกี่ยว แต่หากถ้าก่อนทำการห่อผลมีการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชแล้วก็จะไม่มีประโยชน์ในการห่อ อีกทั้งยังสิ้นเปลืองแรงงานโดยใช่เหตุ

ข้อมูลโดย สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร