กทท. เตรียมให้เอกชนร่วมลงทุนต่อ หลังหมดสัญญา ทลฉ. ขั้นที่ 1 และ 2

ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทน ผู้อำนวยการ       การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เปิดดำเนินการโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และ 2 โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตั้งแต่ปี 2534 โดยจะมีท่าเทียบเรือที่สิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทาน   ในปี 2563 – 2564 ได้แก่ ท่าเทียบเรือ A5 B2 B3 และ B4 ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 กทท. จะต้องศึกษาและจัดทําแนวทางการดําเนินกิจการของรัฐภายหลัง  จากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบการดําเนินกิจการของรัฐกรณีที่หน่วยงานของรัฐดําเนินการเอง กรณีให้เอกชนร่วมลงทุน และกรณีให้เอกชนรายเดิมร่วมลงทุนตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ  พ.ศ. 2556 เสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อยห้าปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง โดยให้คํานึงถึงประโยชน์ของรัฐและความต่อเนื่องในการดําเนินกิจการของรัฐ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม    พิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ให้ความเห็นชอบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง กทท. ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาฯ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการดำเนินการตามมาตรา 48 ต่อคณะกรรมการ กทท. กรณีของท่าเทียบเรือ B2 B3 และ B4 ซึ่งคณะกรรมการ กทท. มีมติเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุน โดย   ให้มีการควบรวมท่าเทียบเรือ 3 ท่า ความยาวหน้าท่าๆ ละ 300 เมตร ให้เป็น 2 ท่า มีความยาวหน้าท่าๆ ละ 450 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ PPP เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนตามมาตรา 48 แล้ว กทท. จะต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทํารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ และที่ปรึกษาต้องจัดทํารายงานเป็นเอกเทศตามรายละเอียดที่คณะกรรมการกําหนดในมาตรา 24 และสาระสําคัญอื่นๆ ที่ที่ปรึกษาเห็นสมควร และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งรายงานของที่ปรึกษา เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาโครงการเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรีพิจารณาในมาตรา 26 หลังจากนั้น กทท. จะดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนในโครงการท่าเทียบเรือ B2 B3 และ B4 ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเอกชนร่วมลงทุนท่าเทียบเรือดังกล่าวภายในปี 2565

 

 

 

 

 

ในส่วนของท่าเทียบเรือ A5 นั้น คณะกรรมการ กทท. มีมติเห็นชอบให้เอกชนรายเดิมร่วมลงทุน ภายหลังสิ้นสุดสัญญาประกอบการท่าเทียบเรือ A5 ของบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) และเห็นชอบรูปแบบการพัฒนาท่าเทียบเรือ A5 โดยให้ปรับปรุงหลักผูกเรือกลางน้ำและต่อขยายอีก 70 เมตร (ความยาวหน้าท่าเดิม 527 เมตร หลักผูกเรือกลางน้ำเดิม 170 เมตร) และให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุนในส่วนต่อขยาย ทั้งนี้ คณะกรรมการ กทท. ได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องการปรับเฉลี่ยการจ่ายค่าเช่าของท่าเทียบเรือ A5 เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ PPP พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป