กรมควบคุมโรค เดินหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั่วประเทศ เพื่อยุติปัญหาวัณโรคในประเทศไทย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  เดินหน้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของเครือข่ายการทำงานด้านวัณโรคทั่วประเทศ เพื่อยุติปัญหาวัณโรคประเทศไทย ตามแนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ.2561

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 นายแพทย์ภาณุมาศ  ญาณเวทย์สกุล  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการอบรมเรื่อง “แนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ. 2561” ระหว่างวันที่ 1 – 2 พฤศจิกายน 2561  ณ โรงแรมเจริญธานี จังหวัดขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา เสริมสร้างสมรรถนะและศักยภาพบุคลากรที่รับผิดชอบงานวัณโรค ให้มีความรู้ความเข้าใจการดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ.2561 ภายใต้การสนับสนุนของโครงการกองทุนโลกด้านวัณโรค

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า จากนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ให้ความสำคัญในการยุติปัญหาวัณโรค โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดอัตราการป่วย ลดอัตราการตายด้วยวัณโรค พัฒนาระบบส่งต่อและติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หายมากกว่าร้อยละ 85 ตลอดจนการสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งวัณโรคนับว่าเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม จะต้องเข้ามาร่วมมือกันยุติปัญหาวัณโรค ตามพันธสัญญานานาชาติ และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ด้วย 4 แนวทางหลัก คือ “นโยบายเข้มแข็ง เสริมแรงด้วยความรู้ รวมหมู่เป็นเจ้าของ ดำเนินการต่อเนื่อง”

กรมควบคุมโรค โดยสำนักวัณโรค จึงได้ดำเนินโครงการอบรม เรื่อง “แนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ.2561” โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายที่ดำเนินงานด้านวัณโรค ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้บุคลากรผู้รับผิดชอบงานวัณโรค มีความรู้ความเข้าใจในงานควบคุมวัณโรค แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์การทำงาน รวมถึงข้อคิดเห็นในการพัฒนาการดำเนินงานวัณโรคในระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานวัณโรคไปสู่การยุติวัณโรคของประเทศต่อไป

 

การอบรมดังกล่าว จะมีการจัดขึ้นทั่วประเทศ 4 ภาค รวม 5 ครั้ง  มีกลุ่มเป้าหมายคือ แพทย์ พยาบาลที่ปฏิบัติงานในคลินิกวัณโรคของโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงผู้ประสานงานของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 1-12 สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมกว่า 2,000 คนทั่วประเทศ โดยเริ่มการอบรมครั้งนี้เป็นครั้งแรก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ในลำดับถัดไป

 

**************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักวัณโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค