ครม. อนุมัติให้ กคช.จัดสร้างโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยจังหวัดลำปาง

คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดสร้างโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2560 จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการอาคารเช่าจังหวัดลำปาง 229 หน่วย วงเงินลงทุน 111,652,000 บาท ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ตามนโยบายของรัฐบาล

ดร.ธัชพล  กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 อนุมัติให้การเคหะแห่งชาติดำเนินโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2560 จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการอาคารเช่าจังหวัดลำปาง จำนวน 229 หน่วย วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 111,652,000 บาท โดยจะดำเนินโครงการได้ต่อเมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว

สำหรับโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่บนถนนลำปาง – แม่ทะ ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง พื้นที่จัดทำโครงการ 5.46 ไร่ จัดสร้างเป็นอาคารอยู่อาศัยรวม 4 ชั้น จำนวน 5 อาคาร ขนาดห้องประมาณ 28 ตารางเมตร รวมทั้งสิ้น 229 หน่วย อัตราค่าเช่าประมาณ 1,700 บาทต่อเดือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2562 และใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 16 เดือน ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2560 คือ กลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 28,400 บาทต่อเดือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และไม่เกิน 16,400 บาทต่อเดือนในส่วนภูมิภาค

“…การเคหะแห่งชาติจะจัดสรรห้องพักที่อยู่ชั้นล่างจำนวนร้อยละ 10 ของอาคาร เพื่อรองรับการอยู่อาศัยของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยออกแบบตามแนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล อำนวยความสะดวกให้กับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ทุพพลภาพ และบุคคลทั่วไป เช่น
การทำทางลาดเพื่อให้ขึ้น – ลง ได้สะดวกขึ้น การติดตั้งสวิตช์ไฟสูงจากพื้นไม่เกิน 90 เซนติเมตร และปลั๊กไฟสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 45 เซนติเมตร การยกพื้นต่างระดับที่ไม่สูงชันจนเกินไป การติดตั้งราวจับเพื่อพยุงตัวในห้องน้ำ เป็นต้น…”

ดร.ธัขพล กล่าวทิ้งท้าย

 

——————————————