สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนตุลาคม 2561
ภาพรวม
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคม 2561 เทียบกับเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.23 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากร้อยละ 1.33 ในเดือนก่อน และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดพลังงาน (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23 ร้อยละ 8.11) อาหารสำเร็จรูป และเคหสถาน ในขณะที่การลดลงของราคาในหมวดอาหารสด (ลดลงร้อยละ 1.48 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิต) และการชะลอตัวของหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยให้เงินเฟ้อชะลอตัว ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.75 รวมเฉลี่ย 10 เดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ร้อยละ 1.15 และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.72
การชะลอตัวของเงินเฟ้อดังกล่าว สอดคล้องกับการชะลอตัวของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 (เทียบกับร้อยละ 1.5 ในเดือนก่อน) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการชะลอตัวของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อน) ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 (ขยายตัวร้อยละ 1.7 เทียบกับร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อน) ตามการปรับตัวของราคาที่สูงขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์เหมืองแร่ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และหมวดพืชผล ในขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรมโดยรวม แม้ยังลดลง แต่ปรับตัวดีขึ้น (จากร้อยละ 1.2 เหลือ ร้อยละ 0.1) สอดคล้องกับดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนนี้ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น (หดตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับหดตัวร้อยละ 6.0[1] ในเดือนก่อนหน้า) เป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตในกลุ่มต้นน้ำ และกลางน้ำ ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่กลุ่มปลายน้ำลดลง ชี้ว่าปัจจัยด้านราคาการผลิต (นอกเหนือจากปัจจัยด้านความต้องการที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง) น่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อมากขึ้นในระยะต่อไป
การลดลงของราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมและการชะลอตัวของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นปัจจัยระยะสั้นที่เป็นผลจากด้านอุปทานทั้งในประเทศและโลกเป็นสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยด้านอุปสงค์โดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ ทั้งรายได้เกษตรกรในเดือนนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.21 อัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ยังขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ (เดือนกันยายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5[2]) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้านการใช้จ่ายที่ปรับตัวดีขึ้น (โดยรวมลดลง แต่ด้านการใช้จ่ายดีขึ้น) ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไปโดยรวมในระยะนี้ลดลง และคาดว่าเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงมีลักษณะเช่นนี้และเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกรอบคาดการณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ประมาณการที่ร้อยละ 0.8–1.6
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนตุลาคม 2561
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.23 (YoY) เป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 จากการสูงขึ้น หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.26 จากการสูงขึ้นของข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 4.87 (ข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์) อาหารบริโภค-ในบ้าน ร้อยละ 0.94 และอาหารบริโภค-นอกบ้าน ร้อยละ 2.15 (ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 2.06 (เครื่องปรุงรส น้ำพริกแกง ซอสพริก) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.77 (กาแฟและชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.73 (นมผง นมสด นมเปรี้ยว) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.21 (ปลาทู ปลาหมึกกล้วย) ขณะที่ผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 8.33 โดยผักสดลดลงร้อยละ 12.26 (ผักชี ผักคะน้า พริกสด) ผลไม้สด ลดลงร้อยละ 3.75 (เงาะ มะม่วง ส้มเขียวหวาน) เป็นช่วงฤดูกาลผลไม้หลายชนิดเข้าตลาดปริมาณมาก หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.79 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 3.89 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นถึงร้อยละ 11.98 จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.66 (ค่าโดยสารรถประจำทาง) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.59 (ค่าเช่าบ้าน ก๊าซหุงต้ม ค่าแรงช่างทาสี) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.67 (ค่าแต่งผมชายและสตรี ยาและเวชภัณฑ์) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.47 นอกจากนี้หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.31 และ 0.41 ตามลำดับ ขณะที่หมวดการสื่อสาร ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.06
เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.06 (MoM) และเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 1.15 (AoA)
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560 สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (YoY) จากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตามการสูงขึ้นของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 1.5 ตามราคาสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร ข้าวสาร ปลายข้าว รำข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส) จากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากปริมาณการผลิตที่ลดลงของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและลวดเหล็ก) ตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มเครื่องจักร (เครื่องสูบน้ำ คอมเพรสเซอร์ รถไถนา) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 13.9 สูงขึ้นตามราคาน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ตามภาวะตลาดโลกขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 แต่เป็นลักษณะการติดลบที่น้อยลง ตามการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผลปาล์มสด มะพร้าวผล ยางพารา พืชผัก ปลาและสัตว์น้ำ(ปลาน้ำจืดและกุ้งแวนนาไม) ขณะที่ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มผลไม้ มีราคาสูงขึ้น
เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) และเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (AoA)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวร้อยละ 1.2 (YoY) แต่ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 จากการสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ชะลอตัวจากเดือนที่แล้วที่สูงขึ้นร้อยละ 2.7 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ–ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ตะปู) จากปริมาณเหล็กเหลือสะสมจากเดือนที่แล้วและปริมาณการจำหน่ายเหล็กที่ลดลงในช่วงฤดูฝน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ชีทไพล์คอนกรีต) หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ขาว)
เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2561 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 0.7 (MoM) เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 3.0 (AoA)
แนวโน้มเงินเฟ้อ
โดยรวม เงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ และได้รับอิทธิพลสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของทั้งความต้องการและราคาพลังงาน โดยราคาพลังงานมีแนวโน้มผันผวนแต่น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัด ในขณะที่ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าตามแนวโน้มค่าเงินในภูมิภาคและการปรับอัตราดอกเบี้ยของประเทศสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลสุทธิต่อดุลการชำระเงิน สำหรับราคาสินค้าเกษตรแม้ยังลดลง แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ราคาปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนและกำลังจะเข้าสู่ฤดูการเก็บเกี่ยวในช่วงที่เหลือของปี (ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกร คาดว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเคลื่อนไหวในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.8–1.6 และอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.5±1.5 ได้
——————————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์