ครั้งแรกของไทย…วสท. และ สอวช.จัดแข่งออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้า Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับ สนง.สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานประกวดออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้า “Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020” บนพื้นฐานกฎและกติกาการแข่งขันของ IMechE Railway Challenge ภายใต้การดูแลของสถาบันวิศวกรเครื่องกล (Institution of Mechanical Engineers) แห่งสหราชอาณาจักร โดยในปีแรกนี้ไทยมุ่งเตรียมพร้อม เน้นการดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงตามมาตรฐานสากล ผลแข่งขันเยาวชนทีม RET-KMITL คว้าแชมป์ชนะเลิศ,  ทั้งนี้ วสท.เผยในอนาคตจะยกระดับการแข่งขันออกแบบโดยผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าจริงให้วิ่งบนรางได้ด้วย หนุนส่งคนรุ่นใหม่ของไทยแข่งบนเวทีระดับโลกต่อไป

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านคมนาคมขนส่งทางรางครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์วิถีใหม่และการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่  การพัฒนารถไฟระหว่างเมืองด้วยระบบรางคู่ และกำลังจะเปลี่ยนจากหัวรถจักรดีเซลเป็นรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเร่งก่อสร้าง วัตถุประสงค์ของการประกวด“Thailand Electric Locomotive Contest 2020” การแข่งขันออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้าครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านวิศวกรรมระบบราง รองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เป็นพลังร่วมสร้างสรรค์ผลงานหัวรถจักรและระบบราง ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การจัดการระบบรางและการบำรุงรักษา ต่อยอดองค์ความรู้ในระบบรางสู่ทักษะการปฏิบัติและผลิตโมเดลย่อส่วนหัวรถจักรไฟฟ้าจริง

ดร. เอกรงค์ สุขจิต ประธานโครงการ Railway Challenge วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ความเป็นมาของการประกวด เริ่มแรกในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศที่เป็นจุดกำเนิดของเทคโนโลยีระบบรางและรถไฟใต้ดินแห่งแรกของโลก โดยจัดประกวดครั้งแรกในปี 2012 และพัฒนาต่อเนื่องมาโดยให้ออกแบบและผลิตรถไฟโมเดลแบบย่อส่วนตามโจทย์ที่กำหนดและวิ่งบนรางได้จริง นับเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมระบบราง และส่งผลกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางจากมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรม การแลกเปลี่ยนความรู้และพบปะกันระหว่างนักศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบบราง สำหรับประเทศไทย เราได้เริ่มจัดกิจกรรมแข่งขันในปีนี้เป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “Thailand Electric Locomotive Design Contest 2020” การแข่งขันออกแบบโมเดลหัวรถจักรไฟฟ้า ซึ่งเน้นการออกแบบหัวรถจักรไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

กติกาการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทีมละไม่เกิน 10 คน ภายใต้โจทย์การแข่งขัน ประกอบด้วย ออกแบบหัวรถจักรต้นกำลังเป็นไฟฟ้า สำหรับรางขนาด 10 ¼ นิ้ว น้ำหนักรวมต้องไม่เกิน 2 ตัน และความเร็วสูงสุด 15 กม./ชม. ทั้งนี้จุดเด่นของการประกวดยังรวมถึงแผนการตลาด คำนวณต้นทุน กำหนดราคาขายและกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเพื่อขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย

การดำเนินงานแข่งขัน คณะกรรมการจัดงานฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้จัดเวิร์คช้อป 6 ครั้ง ตั้งแต่กันยายน 2562 ถึงมกราคม 2563 โดยให้ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีระบบราง ได้แก่ การเลือกใช้วัสดุและการขึ้นรูปวัสดุ, การวิเคราะห์ความแข็งแรงของแคร่รถไฟ, การจัดทำแผนธุรกิจและแนวทางการสร้างนวัตกรรม, ระบบห้ามล้อและการควบคุม,  ต้นกำลังไฟฟ้าของหัวรถจักร, การใช้เครื่องมือวัดเพื่อวิเคราะห์ทางพลศาสตร์ของรถไฟ เกณฑ์การตัดสินรอบชิงชนะเลิศ  ประกอบด้วย หลักการทางวิศวกรรม, เทคนิคการนำเสนอ, การตรงต่อเวลา และการตอบคำถามต่อคณะกรรมการ

นนทวัฒน์ บวรกุลโสภณ หรือ เฟิร์ส หนุ่มนักศึกษาวิศวะลาดกระบัง วัย 23 ปี  หัวหน้าทีม RET-KMITL คว้ารางวัลแชมป์ชนะเลิศ กล่าวว่า ในทีมมีสมาชิก 10 คน ซึ่งเราชอบเทคโนโลยีระบบรางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและโลกวิถีใหม่กันอยู่แล้ว  ใช้เวลากว่า 3 เดือน ได้วิเคราะห์ ถกเถียง ใช้ความรู้ที่เรียนมาลงมือปฏิบัติจริงในการออกแบบหัวรถจักรไฟฟ้าย่อส่วน โดยมุ่งเป้าสำหรับใช้ขนส่งในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวยั่งยืน จุดเด่น คือ 1.ความปลอดภัยพร้อมด้วยระบบเบรคทั้งแบบปกติ ระบบเบรคฉุกเฉิน ระบบเบรกอัตโนมัติ และระบบเบรกโดยจ่ายพลังงานคืน 2.ใช้พลังงานสะอาด ไม่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากแบตเตอรี่แล้วยังมีพลังงานสำรองจากไดนาโมอีกด้วย 3.มีความสวยงาม และสามารถควบคุมได้ตลอดเวลาผ่านระบบบลูทูธและรักษาความปลอดภัย 4.ติดตั้งและถอดประกอบง่าย เช่น ถอดล้อเพลาได้ภายใน 5 นาทีเท่านั้น 5.อายุการใช้งานยาวนาน 50 ปี วัสดุอุปกรณ์และอะไหล่หาง่าย น้ำหนักรวม 500 กก. กำหนดราคาขาย 299,900 บาท/ หัวจักร ค่าใช้จ่ายสร้างราง 1,200 บาท /เมตร หรือ 4.4 ล้านบาท โดยคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1.3 -2.5 ล้านบาท/ปี ครับ

ผลการแข่งขัน รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 50,000 บาท ได้แก่ ทีม RET-KMITL จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนรางวัลอันดับ 2 ทุนการศึกษา 30,000 บาท ได้แก่ ทีมรถจักรสังหาร ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รางวัลอันดับ 3 ทุนการศึกษา 15,000 บาท ได้แก่ ทีม KMUTT Railway Team ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, และรางวัลชมเชย เป็นทีมสุรเริงชัย ม.เทคโนโลยีสุรนารี

ในปีหน้ารัฐบาลกำลังจะเปิด สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์คมนาคมระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน ในอนาคตพลังของคนรุ่นใหม่จะได้มีส่วนพัฒนาสร้างสรรค์ระบบรางของไทยให้ก้าวไกลยั่งยืน

……………………………………