ธ.ก.ส.ครบรอบ 52 ปี เส้นทางสู่ความยั่งยืน นำยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาภาคการเกษตร มุ่งพัฒนาเกษตรกร ชุมชนและสังคม ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนระบบสหกรณ์ และ SMAEs เป็นหัวขบวนในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเสริมช่องทางการตลาดทุกรูปแบบ
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 52 ปี ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการนำนโยบายเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ มาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเกษตรกรและภาคการเกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืน ประกอบด้วยการทำเกษตรกรรม 5 รูปแบบ คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ และเกษตรอินทรีย์ เป้าหมายพื้นที่ 5 ล้านไร่ โดยเฉพาะด้านเกษตรอินทรีย์ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 600 ชุมชน และขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 60,000 ไร่ ภายในปี 2563
โดยธนาคารได้จัดเตรียมโครงการสินเชื่อส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit ) วงเงิน 5,000 ล้านบาท และสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย (XYZ) วงเงิน 2,000 ล้านบาท รองรับ โดยดำเนินการร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศจัดทำงานโครงการอาหารปลอดภัย และการสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย จังหวัดละ 1 ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีมาตรฐานรองรับ
เริ่มจากชุมชนที่มีการพัฒนาการผลิตในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วจำนวน 250 แห่ง ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ครบทุกชุมชน ใช้ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Participatory Guarantee System : PGS) ตามหลักการและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งสนับสนุนชุมชนอื่นๆที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ชุมชนเกษตรอินทรีย์ทั้ง 77 จังหวัด จะต้องมีกระบวนการผลิตที่ดี มีมาตรฐาน ทั้งระบบโรงเรือน ระบบน้ำ ระบบควบคุม รวมถึงโรงบรรจุหีบห่อ มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อรับรองคุณภาพตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย โดย ธ.ก.ส. จะร่วมกับเครือข่ายประชารัฐสนับสนุนด้านการเพิ่มช่องทางตลาด ออนไลน์ รวมถึงตลาด โมเดิร์นเทรด ตลาดนัดของดีวิถีชุมชน ร้านค้า A-Shop เป็นต้น เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ อาหารปลอดภัยจากชุมชนไปสู่ผู้บริโภค
ด้านวนเกษตรและสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ตามแนวทาง ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยชุมชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้เชื่อมโยงไปสู่โครงการชุมชนไม้มีค่าตามนโยบายของรัฐบาล การปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองและของชุมชน อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในที่ดิน เปรียบเสมือนการออมทรัพย์หรือการลงทุนในระยะยาว
เมื่อต้องใช้เงินทุนก็สามารถนำต้นไม้ที่ปลูกบนที่ดินตนเองมาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า อันนำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านีเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่ร่วมปลูกต้นไม้กับ ธ.ก.ส. ตามโครงการธนาคารต้นไม้จำนวน 6,804 ชุมชน มีสมาชิก 115,217 ราย มีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศกว่า 11.7 ล้านต้น
ในส่วนของความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการบริหารจัดการหนี้ให้กับเกษตรกรที่มีภาระหนัก ผ่านมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การปรับเปลี่ยนการผลิต การรวมกลุ่มเพื่อร่วมกันผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การรวบรวมและใช้กระบวนการสหกรณ์ เป็นหัวขบวน ในการขับเคลื่อนภายใต้หลักตลาดนำการผลิต และการนำรูปแบบ Project based มาสร้างอาชีพและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ ควบคู่การสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการส่งเสริมเงินออม การให้ความรู้ การสร้างเครือข่าย และสร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติอีก 7 แผนงาน ซึ่งผลการดำเนินงาน ณ 30 กันยายน 2561 มีดังนี้
1) แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อปี จำนวน 599,066 ราย สามารถยกระดับรายได้ให้เกิน 20,000 บาท ได้จำนวน 146,305 ราย คิดเป็น 24.42% และผู้มีรายได้ระหว่าง 20,001-30,000 บาทต่อปี จำนวน 284,518 ราย สามารถยกระดับรายได้ให้เกิน 30,000 บาท ต่อปี จำนวน 74,395 ราย คิดเป็น 26.15% ด้านการออมของผู้ที่ประสงค์พัฒนาตนเอง 2.76 ล้านราย ธ.ก.ส.ได้เข้าไปสนับสนุนให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น จำนวน 1,636.14 ล้านบาท เฉลี่ยมีเงินฝากเพิ่มขึ้นรายละ 591 บาท
2) แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยมีเป้าหมายเกษตรกรและทายาทเข้ารับการอบรม เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer จำนวน 8,000 ราย และการยกระดับสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการSME เกษตร เพื่อเป็นหัวขบวนในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การสร้างงานและรายได้ รวมทั้งสิ้น 7,490 ราย
3) แผนงานเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์การเกษตรโครงการตลาดประชารัฐ โดยมอบหมายให้สาขาในพื้นที่ดำเนินการจัดตลาดประชารัฐรวม 280 แห่ง มียอดขายสะสมในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จำนวน 81.85 ล้านบาท
4) โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,917,460 ราย พื้นที่ 27.5 ล้านไร่ โดยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 13,916 ราย พื้นที่จ่ายค่าสินไหมทดแทน 122,154.62 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 153.9 ล้านบาท
5) แผนงานสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร (โครงการเงินออมกองทุนทวีสุข) มีจำนวนสมาชิกสะสมทั้งสิ้น 1,516,567 ราย
6) แผนงานพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงิน จำนวน 1,200 แห่ง
7) แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอุดมสุข มีชุมชนเป้าหมายที่จะยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข 800 ชุมชน ผ่านเกณฑ์ประเมินครั้งที่ 1 จำนวน 428 ชุมชนอยู่ระหว่างการนำแผนสู่การปฏิบัติ และพัฒนาเพื่อประเมินการผ่านเกณฑ์ในครั้งที่ 2 ต่อไป