โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 คืบหน้าแล้วกว่า 40% คาดเริ่มผลิตได้ภายในปี 2565

โรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 คืบหน้าแล้วกว่า 40% งานด้านโครงสร้างเกือบเสร็จแล้วทุกอาคาร ขณะนี้เริ่มติดตั้งเครื่องจักรระบบสนับสนุนการผลิต เช่น chiller กับ cooling tower ถังน้ำมัน คาดพร้อมผลิตได้ปี 2565

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ว่า จากการเข้าดูพื้นที่ในวันนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้วกว่า 40% งานด้านโครงสร้างเกือบเสร็จแล้วทุกอาคาร ขณะนี้เริ่มมีการติดตั้งเครื่องจักรของระบบสนับสนุนการผลิต เช่น chiller กับ cooling tower และถังน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีการสั่งซื้อเครื่องจักรเพื่อดำเนินการผลิตคาดว่าจะสามารถเปิดทำการผลิตได้ภายในปี 2565 ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในอาเซียน และช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงยาได้มากขึ้น

นายแพทย์วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม  กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม (คลอง10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนเนื้อที่ 60 ไร่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 5,396 ล้านบาท ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างและการควบคุมงาน โดยมีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รับชั่น (ประเทศไทย) ร่วมสังเกตการณ์ด้วย ใช้เวลาในการก่อสร้างพร้อมติดตั้งระบบงาน และเครื่องจักรเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึง มิถุนายน 2565 สำหรับรองรับกำลังการผลิตยาที่ย้ายฐานการผลิตมาจากโรงงานที่องค์การเภสัชกรรม ถนนพระรามที่ 6 และผลิตยารายการใหม่ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนาสำเร็จ และด้วยเป็นโรงงานที่มีศักยภาพสูงจะทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตยาโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา ได้มากกว่ามูลค่าในปัจจุบันที่ประหยัดได้มากกว่าถึงปีละ 7,500 ล้านบาท โดยดำเนินการผลิตตามมาตรฐานคุณภาพ GMP PIC/S ที่จะรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา กลุ่มยาที่รักษาโรคเรื้อรัง ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาจำเป็น ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ เบาหวาน ความดัน  ลดไขมันในเส้นเลือด วัณโรค ยาช่วยชีวิต ยาชา ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเปิดทำการผลิตได้ภายในปี 2565  โรงงานฯแห่งใหม่นี้ จะทำการผลิตยาน้ำ ยาฉีด ยาครีม/ขี้ผึ้ง และยาเม็ด รวมทั้งหมดทั้งยาเก่าและยาใหม่ ประมาณ 160 รายการ

—————-