นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network : Thailand–WEN) ครั้งที่ 1/2563 ตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมฃาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 318/2569 ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานเครือข่ายจำนวน 28 คน เป็นกรรมการ และมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.30-14.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
การประชุมคณะกรรมการเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network : Thailand–WEN) ครั้งที่ 1/2563 เป็นการรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network : Thailand–WEN) ซึ่งเป็นการแต่งตั้งแทนคณะกรรมการชุดเก่า ที่แต่งตั้งเมื่อปี พ.ศ.2554 เพื่อให้ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีขอบเขตการประสานงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายกว้างขวางขึ้น มีประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีหน่วยงานรับผิดชอบและเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการรวมทั้งสิ้น 28 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภายในของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คือ สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย สำนักงานป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กองคุ้มคองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ซึ่งมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นกรรมการและเลขานุการกรรมการ
สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าแห่งประเทศไทย (Thailand Wildlife Enforcement Network : Thailand–WEN) มีดังนี้
1.กำหนดและควบคุมนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ และปฎิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าของประเทศไทย ให้เป็นไปตามพระราชบัญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และอนุสัญญา CITES
2.สนับสนุนและกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และองค์กรเอกชนในประเทศไทย ในการดำเนินงานเครือข่าย Thailand–WEN
3.สนับสนุนและกำหนดแนวทางความร่วมมือ จุดยืน ตลอดจนท่าทีการเจรจา ในการประสานและร่วมดำเนินงานระหว่างประเทศ ของเครือข่าย Thailand–WEN ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
4.สนับสนุนกิจกรรมการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าและการทำป่าไม้ที่ผิดกฎหมาย (SOMTC) และการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออนุวัติอนุสัญญา CITES
5.พิจารณารับรองแผนงานและงบประมาณประจำปีของเครือข่าย Thailand–WEN
6.ติดตามผลการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าของประเทศไทย ภายใต้เครือข่าย Thailand–WEN
7.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษา เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับทราบการจัดตั้งสำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผลการดำเนินงานโครงการ Combatting Illegal Wildlife Trade, focusing on Ivory, Rhino Horn, Tiger and Pangolins in Thailand (โครงการ GEF-6) ในปี 2562-2563 ซึ่งสำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย มีหน้าที่สำคัญคือ ดำเนินงานเครือข่าย Thailand–WEN ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในเครือข่าย Thailand–WEN ดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน SOMTC และอนุสัญญา CITES และการดำเนินงานโครงการ Combatting Illegal Wildlife Trade, focusing on Ivory, Rhino Horn, Tiger and Pangolins in Thailand (โครงการ GEF-6) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยเน้นที่ประเด็นของงงาช้าง นอแรด เสือ และลิ่น เน้นการเสริมสมรรถนะและสร้างความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าในกลุ่มเป้าหมาย โดยในระหว่างปี 2562-2563 มีผลการดําเนินงาน เช่น จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกําหนดปัญหาสําคัญเร่งด่วน ในการปราบปรามอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า จัดฝึกอบรมหลักสูตรการอนุบาลสัตว์ป่าต่างประเทศเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ด้านตรวจสัตว์ป่า จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ ด้านเทคนิค (Technical Advisory Consortium) และคณะทํางานการลดความต้องการด้านสัตว์ป่า เป็นต้น
……………………………………………