ทานตะวัน ลดไขมัน รักษาต่อมลูกหมากโต

ทานตะวันเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาเหนือ มีหลักฐานว่ามีการปลูกในประเทศเม็กซิโกมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อน ทานตะวันถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวฝรั่งเศสนำมาปลูก จนทุกวันนี้ดอกทานตะวันสีเหลืองสดที่จะบานหรือหันไปตามแสงตะวัน กลายมาเป็นดอกไม้ที่คนไทยชื่นชอบและคุ้นเคยเป็นอย่างดี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านๆ ละต้นสองต้น

นอกจากจะชื่นชมความสวยสดของดอกทานตะวันแล้ว คนไทยสมัยก่อนยังนำต้นนี้มาใช้ประโยชน์ทางยาหลายประการ เช่น ใช้บำรุงร่างกาย รักษาอาการปวดศีรษะ แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไข้หวัด แก้ไข้ตัวร้อน แก้โรคหัด แก้บิด ตกขาว ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย ขับนิ่ว ขับพยาธิ ช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดเบาหวาน รักษาโรคไขข้อ เป็นต้น ในปัจจุบันคุณค่าของดอกทานตะวันทำให้เกิดอุตสาหกรรมแตกแขนงออกไปมากมาย โดยเฉพาะการเป็นอาหารสุขภาพ ตั้งแต่น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน เมล็ดทานตะวันอบแห้ง ไปจนถึงเมล็ดทานตะวันงอก ที่กลายเป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารสุขภาพหลายอย่าง

โดยธรรมชาติเมล็ดพืชทุกชนิดจะเก็บสะสมสารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ไว้ภายใน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการงอกของต้นอ่อนที่ถูกหุ้มอยู่ภายในเปลือก แต่เมล็ดทานตะวันพิเศษตรงที่มีองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิดและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าเมล็ดพืชทั่วๆ ไป คือ เป็นแหล่งของวิตามินอี วิตามินบี วิตามินดี โปรตีนและมีเส้นใยสูง เป็นแหล่งของไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีต่อร่างกายทั้งยังมีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี ซีลีเนียม

คุณค่าสารอาหารที่มากมายเหล่านี้ทำให้เมล็ดทานตะวันเหมาะจะเป็นอาหารว่างของท่านชายอย่างยิ่ง เริ่มจากเมล็ดทานตะวันมีวิตามินอีสูงยิ่งกว่าเมล็ดอัลมอนด์ซึ่งก็อุดมไปด้วยวิตามินอีเช่นกัน วิตามินอีช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ถ้าได้รับมากเกินไป อาจเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือไปเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว ดังนั้นการได้รับวิตามินอีจากธรรมชาติโดยการรับประทานเมล็ดทานตะวัน จะช่วยป้องกันไม่ให้ได้รับมากเกินไป วิตามินอียังมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น แข็งแรง สุขภาพดี บำรุงสายตา ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ และต้านมะเร็ง

นอกจากนี้กรดคอนจูเกเตดไลโนเลอิก (Conjugated Linoleic Acid: CLA) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่พบมากในน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก กลไกดังกล่าวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการที่สารนี้มีผลยับยั้งกระบวนการอักเสบ (arachidonic acid metabolism) ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

น้ำมันจากเมล็ดทานตะวันเป็นน้ำมันพืชที่ดีมากชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันชนิดดี (HDL) มีงานวิจัยพบว่า สามารถช่วยลดไขมันตัวร้ายได้ดีกว่าน้ำมันมะกอก โดยมีผลลดไขมันโคเลสเตอรอล และไขมันดี (LDL) แอลดีแอล นอกจากนี้ในน้ำมันเมล็ดทานตะวันยังพบกรดคอนจูเกเตดไลโนเลอิก (Conjugated Linoleic Acid: CLA) ซึ่งมีผลช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และลดปริมาณไขมันสะสมที่จะเกิดใหม่ด้วย CLA อาจไม่ได้ทำให้น้ำหนักลดลง แต่จะทำให้สัดส่วนรูปร่างดีขึ้น เพราะไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายลดลง โดยจะเห็นผลชัดเจน หากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่กันไปด้วย

คุณสมบัติเด่นอีกประการของน้ำมันเมล็ดทานตะวัน คือ การเยียวยาผิว ในการแพทย์พื้นบ้านมีการใช้ทาเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน ลดอาการคัน นอกจากนี้ยังใช้ทาแก้ปวดข้อ ลดการอักเสบ ลดปวด จากคุณสมบัติดังกล่าว จึงมีการวิจัยใช้น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันรักษาเกลื้อนที่เท้าของนักกีฬา เปรียบเทียบกับครีมทาฆ่าเชื้อราแผนปัจจุบันชื่อ คีโตโคนาโซล (ketoconazole) ซึ่งน่าจะคุ้นหูกันดี ในผู้ป่วย 200 ราย โดยให้ทาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพของน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันสามารถรักษาเกลื้อนได้ไม่ต่างจากครีมคีโตโคนาโซล น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิผลในการรักษาและราคาถูกในการเป็นยาทาฆ่าเชื้อรา หรือใช้เสริมการรักษาแผนปัจจุบัน

ส่วนอื่นๆ ของต้นทานตะวันก็มีการใช้เป็นยารักษาโรค ในทางการแพทย์แผนจีนมีรายงานการใช้ทานตะวันรักษาเต้านมอักเสบ 122 ราย พบว่าให้ผลการรักษาดี ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นโดยใช้ส่วนฐานรองดอกแห้งของทานตะวันหั่นฝอย นำไปคั่วให้เกรียมแล้วบดให้ละเอียด ชงกับน้ำอุ่น รับประทานครั้งละ 10-15 กรัม วันละ 3 ครั้ง และมีการใช้ดอกสดมาต้มเคี่ยวให้ข้นคล้ายขี้ผึ้งเหลว ใช้พอกหรือทาภายนอกเพื่อรักษาแผลสด แผลฟกช้ำ ไขข้อกระดูกอักเสบ

ข้อแนะนำในการรับประทานเมล็ดทานตะวันเพื่อสุขภาพ

  • รับประทานแต่พอดี วันละ 1-2 ช้อนโต๊ะ รับประทานมากไปก็อ้วนได้ และอาจได้รับเกลือโซเดียมมากเกินไป (ในบางยี่ห้อ)
  • ควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทกันความชื้น เพราะเมล็ดทานตะวันชื้นง่ายเลือกรับประทานเมล็ดทานตะวันที่ผลิตได้คุณภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อรา โดยเฉพาะอะฟลาทอกซิน (aflatoxins) ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็ง

สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

ปรึกษาเพิ่มเติมกับแพทย์แผนไทยผ่านคลินิกออนไลน์ https://lin.ee/47PRVjiFz