วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00 น. ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานปิดโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเด็กบนท้องถนน (Children in Street) ในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบโล่เกียรติคุณให้กับภาคีเครือข่าย โดยมี นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารมช.ศธ. นายพะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. รศ.ดร.ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์ ที่ปรึกษาโครงการ Children in Street และ รศ.ดร.นิตติยา ปภาพจน์ หัวหน้าโครงการ Children in Street ให้การต้อนรับ ณ ห้องกรุงธนบอลล์รูม โรงแรมรอยัล ริเวอร์ ซึ่งจัดโดย สมาคมสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต (สพช.)
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. กล่าวว่า “ ในฐานะที่ตนทำหน้าที่กำกับดูแลด้านนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเด็กบนท้องถนน กลุ่มเด็กเปราะบาง และกลุ่มเด็กด้อยโอกาสของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณทุกท่านและทุกองค์กรที่มีส่วนในการทุ่มเทพลังงาน ความคิด และทรัพยากรมาร่วมบูรณาการทำงาน จนทำให้โครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเด็กบนท้องถนน (Children in Street) ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจนสำเร็จลุล่วงไปเป็นอย่างดี จากสถิติล่าสุดที่ประมาณว่ามีเด็กบนท้องถนน ประมาณสามหมื่นคนที่กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย และหากผนวกเข้ากับจำนวนเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นไม่ได้รับการศึกษาอีกนับแสนราย ถือเป็นปัญหาและความท้าทายที่หนักหน่วงสำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคมในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือ No one left behind หากกลุ่มเด็กบนท้องถนน กลุ่มเด็กเปราะบางหรือเด็กขาดโอกาสเหล่านี้ ได้รับความช่วยเหลือ ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงน่าจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ตนจะได้มอบหมายให้หน่วยงานทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการนำการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ดังกล่าว ที่ให้ความสำคัญกับระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่กลุ่มเด็กบนท้องถนนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ไปขยายผลเพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการศึกษาในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ รวมทั้งได้มอบนโยบายให้สำนักงาน กศน.หารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางดูแลครูที่ดูแลกลุ่มเด็กบนท้องถนนทั่วประเทศ โดยใช้ข้อสรุปของการวิจัยดังกล่าวในการสนับสนุนและเป็นเหตุผลความจำเป็นต่อการผลักดันและสนับสนุนในเรื่องอัตรากำลัง ให้ครูกลุ่มนี้ได้รับการประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานราชการ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูที่ดูแลกลุ่มเด็กเหล่านี้ให้มีความมั่นคงในอาชีพ อันจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย และเราจะยิ้มสู้ ด้วยศรัทธาที่จะมีร่วมกันต่อไป” รมช.ศธ. กล่าว
รศ.ดร.นิตติยา ปภาพจน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเด็กบนท้องถนน (Children in Street) ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการฯดำเนินการจัดทำโดย สมาคมสถาบันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต (สพช.) โดยได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ประจำปี 2562 เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยมีการรวบรวมข้อมูลแบบผสมผสาน โดยอาศัยทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อประมวลข้อมูลพื้นฐาน สถานการณ์และสภาพปัญหาของกลุ่มเด็กบนท้องถนนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในการสร้างเสริมศักยภาพ และรูปแบบการช่วยเหลือกลุ่มเด็กบนท้องถนนรายบุคคล นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับครูข้างถนนและคนทำงานกับเด็กบนท้องถนน การศึกษาและพัฒนาระบบการช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมและการเสริมสร้างความเข้าใจ ในการศึกษาพบว่า ผลจาก การวิเคราะห์ข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคลฯ และการสำรวจของ กศน.กทม. พบว่ามีเด็กเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร กระจายอยู่ตามเขตต่าง ๆ 22 เขต รวมจำนวนเด็กบนท้องถนนที่พบจำนวน 152 คน
นอกจากนั้นยังมีการสัมภาษณ์ภาคีเครือข่ายที่ทำงานกับเด็กบนท้องถนน 5 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี)มูลนิธิสายเด็ก 1387 ศูนย์สร้างโอกาสเด็ก กรุงเทพมหานคร องค์การเฟรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิบ้านนกขมิ้น พบว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 มีจำนวนเด็กบนท้องถนนที่พบรวมทั้งสิ้น 5,409 คน โดยเด็กบนท้องถนนดังกล่าวจะครอบคลุมกลุ่มเด็กเร่ร่อน และเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กในภาวะยากลำบากที่มีโอกาสจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา ซึ่งจากการศึกษาเชิงคุณภาพของกลุ่มเด็กบนท้องถนนที่มีแนวโน้มจะไม่ได้รับการศึกษา หรือเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 203 คนพบว่าสาเหตุของการออกมาเร่ร่อน พบว่า มาจาก ปัญหาครอบครัวและความยากจน ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาจึงต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จัดทำโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเด็กบนท้องถนน (Children in Street) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กและพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับครูและคนทำงานกับเด็กบนท้องถนน ซึ่งประกอบด้วยสมรรถนะ 3 ด้าน คือ สมรรถนะด้านทัศนคติ สมรรถนะด้านทักษะ และสมรรถนะด้านความรู้ ตลอดจนให้ความสำคัญกับระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่กลุ่มเด็กบนท้องถนน ซึ่งควรเน้นการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยมีการศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่าย 4 องค์กรที่ ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (Mercy) มูลนิธิบ้านนกขมิ้น ศูนย์สร้างโอกาสเด็กกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสายเด็ก ในการนำรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้ง 3 รูปแบบไปใช้กับเด็กบนท้องถนนต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.นิตติยา กล่าว
………………………………….
ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ
ภาพ : ปราณี บุญยรัตน์