8 ธันวาคม 2563 : ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อศักยภาพของกองทัพและการปกป้องประเทศ (Thailand’s Armament and National Defense Research and Industry) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย มีความพร้อมในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ ปลอดพ้นจากการคุกคามทุกรูปแบบ ส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ สามารถบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ นั้น กองทัพบกจึงร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินโครงการวิจัยทางด้านยุทโธปกรณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2563
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดเผยว่า การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ เป็นระยะเวลา 5 ปี รวม 113 โครงการ โดยเริ่มขึ้นในปีแรก (พ.ศ. 2558) จำนวน 14 โครงการ ในปีที่ 2 (พ.ศ. 2559) จำนวน 18 โครงการ ในปีที่ 3 (พ.ศ. 2560) จำนวน 21โครงการ ในปีที่ 4 (พ.ศ. 2561) จำนวน 22 โครงการ ปีที่ 5 (พ.ศ. 2562) จำนวน 19 โครงการ และปีที่ 6 จำนวน 19 โครงการ รวมทั้งสิ้น 133 โครงการ ปัจจุบันมีนักวิจัยจากทุนโครงการนี้ทั้งสิ้นจำนวน 94 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนศักยภาพการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพและลดการนำเข้าของกองทัพโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและโจทย์ความต้องการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของกองทัพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาความมั่นคงของกองทัพ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนานักวิจัยในด้านยุทโธปกรณ์เพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการเผยแพร่ผลงานวิจัยโครงการทุนพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ ตลอดจนสร้างโอกาสให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ในงานวิจัยพร้อมทั้งพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของนักวิจัย
รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวในตอนหนึ่งของการเปิดงานว่า นิทรรศการที่จัดขึ้นนี้ เป็นการแสดงงานวิจัยด้านยุทโธปกรณ์สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกองทัพบก เราได้ทำโครงการนี้ยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 มีโครงการที่เข้ามาร่วมมือกันมากกว่า 100 โครงการ และมีนักวิจัยที่เป็นนักวิจัยหลักกว่า 100 ท่าน จากมหาวิทยาลัยมากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานที่นำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณและนักวิจัย ซึ่งได้โจทย์ความต้องการจากกองทัพหรือหน่วยงานผู้ใช้ เรียกได้ว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานนี้สะท้อนให้เห็นว่าโครงการที่เกิดขึ้นนี้เป็นความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ
โครงการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์นี้มีลักษณะเป็น dual-use เราพัฒนางานวิจัยและยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในกองทัพ ในขณะเดียวกันก็ต้องนำไปสู่เชิงพานิชย์สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ โครงการนี้ไม่ได้พูดถึง dual-use เพียงอย่างเดียว แต่เราพูดถึงการพัฒนาคน คือนอกจากการเอาไปใช้ประโยชน์ทั้งในกองทัพเอง หรือการนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์แล้ว การพัฒนาคนหรือนักวิจัยก็มีความสำคัญมาก เพราะนักวิจัยจะทำงานได้ก็ต้องมีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โทหรือเอกร่วมอยู่ด้วย กลุ่มเหล่านี้จะถูกสร้างต่อเนื่องขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นนักวิจัย เป็นบุคคลที่มีศักยภาพของประเทศในการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ในการทำวิจัยนั้นไม่ได้หมายความว่างานวิจัยหนึ่งจะมีผลงาน หรือผลิตภัณฑ์สุดท้ายจบอยู่เพียงแค่นั้น แต่เส้นทางเดินกว่าจะไปถึงผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะมีการสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เทคโนโลยีระหว่างทางอาจจะไม่ได้หมายถึงการนำไปสู่ยุทโธปกรณ์หรือการป้องกันประเทศเพียงอย่างเดียว แต่สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ ได้ เราอยากให้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้จบแค่การออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในกองทัพหรือเชิงพานิชย์ แต่เรามองว่าเราสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปสู่การเป็น startup เราจะต้องสร้าง startup รุ่นใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสร้าง startup ที่เป็นธุรกิจเพื่อทำอาวุธ หรือเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ แต่เป็น startup ที่นำเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นระหว่างทางไปสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆในการพัฒนาประเทศ
“การจัดงานในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์งานวิจัยของโครงการด้านยุทโธปกรณ์ไปสู่สาธารณะ ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสและถ่ายทอดความรู้ของงานวิจัยไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมในเชิงธุรกิจ หรือนำไปสู่การพัฒนาคนและการพัฒนาธุรกิจ startup” รองปลัดกระทรวง กล่าวในตอนท้าย
งานนิทรรศการในครั้งนี้ แสดงถึงความสำเร็จของการสนับสนุนการพัฒนานักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ในสถาบันอุดมศึกษา และทำให้กองทัพบกได้รับผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและมาตรฐานตรงต่อความต้องการ สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยงานวิจัยด้านดำรงสภาพยุทโธปกรณ์ การเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงนวัตกรรมการวิจัย จำนวนทั้งสิ้น 53 โครงการ มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดนิทรรศการ จำนวน 17 แห่ง โดยมีผลงานวิจัยเด่น (Product Champaign) จำนวน 10 โครงการโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ผู้รับทุน ผู้ร่วมวิจัยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน
……………………………………………….