สมัยก่อนในแต่ละปี บางชุมชนจะมีการปรับธาตุของคนในหมู่บ้านด้วยยาหม้อใหญ่ ที่ต้มให้สมาชิกแต่ละครัวเรือนมาดื่มกัน หวังเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีความสมบูรณ์ของธาตุหรือเป็นการปรับธาตุให้สมดุลนั่นเอง เพื่อต้อนรับปีใหม่ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น หรือแม้ในศาสตร์พื้นบ้านของการแพทย์แผนไทยเองก็มีการปรับธาตุ ด้วยวิธีการคูณธาตุ และจัดยาปรับธาตุตามสัดส่วนของอายุในปีนั้นที่คูณได้ ให้เจ้าตัวไปต้มกินเพื่อปรับให้ธาตุของคนนั้นๆเสมอกัน หรือมีความสมดุลนั่นเอง เพื่อไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย
ตำรับยาที่ใช้เป็นยาปรับธาตุในทางการแพทย์แผนไทยคือ ยาเบญจกูล ซึ่งประกอบด้วยตัวยาที่บำรุงธาตุทั้ง 4 รวมถึงอากาศธาตุ มีการท่องจำเป็นคีย์เวิร์ดสั้นๆว่า “ดี-ช้า-สะ-เจต-ขิง” ได้แก่
- ดีปลี ประจำธาตุ ดิน ยารสเผ็ดร้อนขม แก้ปถวีธาตุพิการ แก้ท้องร่วง ขับลมในลำไส้ แก้หืดไอ ขับเสมหะในโรคหืด แก้อุระเสมหะ (เสมหะในทรวงอก)
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ลดไขมัน ลดการสะสมไขมันที่ตับในสัตว์ทดลอง ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการปวด ลดปวด ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดการวิตกกังวลทำให้ง่วงนอน ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย และฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยเฉพาะยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและลำไส้ใหญ่แต่ยังเป็นการทดสอบในหลอดทดลอง
- ช้าพลู ประจำธาตุ น้ำ ยารสเผ็ดร้อน แกคูถเสมหะ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ขับลม และคลายกล้ามเนื้อ ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย และ วัณโรคในหลอดทดลอง นอกจากนี้ยังพบว่า ช้าพลู มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากการยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรสในหลอดทดลอง และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็งได้ แต่ไม่แนะนำให้กินใบช้าพลูสดในปริมาณมากติดต่อกันเนื่องจากมีแคลเซียมออกซาเลตสูง อาจทำให้เวียนศีรษะและอาจเกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะได้
- สะค้าน ประจำธาตุ ลม ยารสเผ็ดร้อน แก้ลมในกองธาตุ กองสมุฏฐาน ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ หายใจขัด
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ระงับปวดในหนูทดลอง เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ยังไม่มีการศึกษามากนักแต่ก็มีการใช้ประโยชน์ยาวนานในการเป็นยาแก้ปัญหาโรคลม
- เจตมูลเพลิง ประจำธาตุ ไฟ ยารสร้อน บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต กระจายเลือดลม ขับโลหิตระดู
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ต้านมะเร็ง และยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดต้านการแข็งตัวของเลือด ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด
ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ในขนาดสูง เพราะมีผลทำให้แท้งได้ และการใช้ต่อเนื่องอาจเป็นพิษต่อไต ดังนั้นควรใช้ตามคำแนะนำ
- เหง้าขิงแห้ง ประจำ อากาศธาตุ ยารสเผ็ดหวาน ช่วยเจริญอากาศธาตุ ขับลม แก้ลมพานไส้ พรรดึก
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านมะเร็ง การศึกษาพบว่าเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอดในหลอดทดลอง เปรียบเทียบระหว่างเหง้าของและเหง่าขิงแห้งพบว่าไม่แตกต่างกัน ดังนั้นอาจใช้ เหง้าขิงแทนเหง้าขิงแห้งได้เนื่องจากปัจจุบันหายากขึ้น
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับตำรับยา “เบญจกูล” พบว่า ยาตำรับนี้มีฤทธิ์ช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือ NK cell และยังสามารถกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ได้ นั่นหมายถึงตำรับเบญจกูลมีน่าจะมีประโยชน์ต่อการเพิ่มภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยมะเร็งหรือกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำได้ และด้วยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรแต่ละตัวในตำรับที่มีผลในด้านการของเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นฤทธ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งและสุขภาพ
แม้ว่าในการศึกษาการใช้ยาเบญจกูลต่อเนื่อง 14 วัน จะไม่พบความผิดปกติของตับและไต แต่เนื่องจากเป็นตำรับยารสร้อนจึงควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีความร้อนสูง รวมถึงผู้ที่ความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ และไม่ควรใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กินยาวาร์ฟาริน และไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก และไม่ควรกินยานี้ในฤดูร้อนอาจส่งผลให้เกิดความร้อนเกินไป และไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน หากผู้ที่ต้องการใช้ยาตำรับนี้แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น
ตำรับยาเบญจกูล ถือว่าเป็นตำรับยาแผนไทยโบราณที่มีการใช้กันมานานและอยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ปัจจุบันจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (2556) โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ ขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และยังคงเป็นยาตำรับพื้นบ้านที่มีประสิทธิภาพจากการศึกษาสมัยใหม่ ที่ช่วยยืนยันผลประสบการณ์การใช้ของคนรุ่นก่อนได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่าง การคูณธาตุ สูตรหมอยา ดงกระทงยาม ปราจีนบุรี
ธาตุดิน | ธาตุน้ำ | ธาตุลม | ธาตุไฟ | |
กำลังธาตุ | 21 | 12 | 6 | 4 |
อายุ | 33 | 33 | 33 | 33 |
ผลรวม | 54 | 45 | 69 | 37 |
หาร 7 เหลือเศษ | 6 | 3 | 6 | 2 |
แปลผล
0=พิการ, 1-3=หย่อน, 4-5=ปกติ, 6-7=กำเริบ |
กำเริบ | หย่อน | กำเริบ | หย่อน |
สัดส่วนยา
พิการ = 4 ส่วน , หย่อน = 3 ส่วน กำเริบ = 2 ส่วน, ปกติ = 1 ส่วน |
2 | 3 | 2 | 3 |
ตัวยา | ดีปลี | ช้าพลู | สะค้าน | เจตมูลเพลิง |
ตัวยาเสริม | เหง้าขิงแห้ง (อากาศธาตุ) มะตูม บอระเพ็ด อย่างละ 7 แว่น และพริกไทยดำเท่าอายุ ต้มดื่ม วันละ 1 ครั้ง 7 วัน |
หมายเหตุ : 7 มาจาก ธรรมชาติร่างกาย 7 ประการ , การพิจารณาตัวยาและกำลังยาอาจปรับแต่งตามความเหมาะสมของผู้รับประทานได้
สอบถามเพิ่มเติมผ่านคลินิกแพทย์แผนไทยออนไลน์
เพิ่มเพื่อน @abhthaimed
———-
พท.ป.เบญจวรรณ หมายมั่น
หัวหน้าฝ่ายสื่อสารข้อมูลศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ฯ
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
เอกสารอ้างอิง
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=58
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=221
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=183
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=38
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=187
ปะการัง จันทร์โท และคณะ, กรณีศึกษาของการใช้ยาตำรับเบญจกูล ในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กระยะที่ ๔, ธรรมศาสตร์เวชสาร ๑๗ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๖๐).