“Holiday Heart Syndrome” รับมือ สัญญาณเตือน…ภาวะหัวใจฉุกเฉินช่วงปีใหม่

เราอาจดูแลสุขภาพร่างกายเราเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บได้ตลอดรอดฝั่ง เช่น โรคภาวะหัวใจฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ปาร์ตี้ปีใหม่อยู่ดีๆ เกิดอาการของโรคหัวใจขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะไม่เคยตรวจเจอความผิดปกติใดๆ มาก่อน แต่ถ้าเรามีความเสี่ยงก็อาจเจอกับโรคได้  

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า Holiday Heart Syndrome สัมพันธ์ โดยตรงกับคนหนุ่มสาวอายุน้อย ที่พักผ่อนน้อย อดนอน สังสรรค์ปาร์ตี้หนักติดต่อกันหลายคืน โดยเฉพาะคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในเวลารวดเร็ว หรือติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวั ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวก่อนที่จะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ควรที่จะทราบถึงปัจจัยเสี่ยงก่อนว่าเข้าข่ายของกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาจจะต้องมีการตรวจร่างกาย และสืบหาความเสี่ยงเหล่านั้นด้วย

โรคหัวใจที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน เช่น ภาวะหัวใจฉุกเฉิน แม้จะตรวจไม่เจอความผิดปกติมาก่อน แต่แค่มีความเสี่ยงก็อาจจะมีภาวะนั้นได้ โดยพบว่าแม้ไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน แต่มีประวัติเสี่ยงก็อาจเจอกับภาวะของโรคได้ เช่น  1.โรคเส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลันชนิด (Plaque ruptureที่มาด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดแบบกราฟหัวใจ ST elevation ST elevation myocardial infarction) พบว่า จะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชายที่อายุมากขึ้น ร่วมกับความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย โรคอ้วน ภาวะเครียดสะสม หรืออาจจะมีประวัติครอบครัวที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว โดยอาการของโรคนี้อาจเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันทีทันใด เช่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จุกลิ้นปี่ ร้าวไปที่กรามหรือที่แขน เหงื่อแตกใจสั่น และอาจจะพบว่าเป็นขณะกำลังออกแรงหรือออกกำลังกาย 2.โรคเส้นเลือดใหญ่ที่ขั้วหัวใจแตกฉุกเฉิน ( Dissecting Aortic aneurysm ) ซึ่งปัจจัยเสี่ยงจะคล้ายกับโรคเส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลัน หรืออาจจะมีประวัติเรื่องของการตรวจพบว่ามีเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองอยู่ก่อนหน้าแล้ว หรืออาจจะมีปัญหาในเรื่องของเส้นเลือดแดงส่วนอื่นในร่างกายตีบอยู่ก่อนหน้าแล้ว เป็นต้น อาการของโรคนี้คือ เจ็บแน่นกลางหน้าอกขึ้นมาทันทีทันใด และมีอาการแน่นทะลุร้าวไปถึงหลังร่วมด้วย 3.ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบฉับพลัน ( Acute Atrial fibrillation or Holiday heart syndrome ) คืออาการใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจจะพบได้ในคนที่พักผ่อนน้อย อดนอน สังสรรค์ปาร์ตี้หนักติดต่อกันหลายคืน ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากนานหลายวัน คนไข้จะมีอาการใจสั่น หมดสติ หน้ามืดเป็นลม และชีพจรไม่ได้จังหวะ

โดยทั่วไป อาการที่เกิดจากโรคหัวใจโดยตรง มักจะเกิดขึ้นแบบรวดเร็วฉับพลัน อาจจะคล้ายกับอาการของคนพักผ่อนน้อย อดหลับอดนอน อาการหน้ามืดเป็นลมธรรมดาที่มักจะเป็นครั้งเดียวแล้วหายไป แต่ถ้าเป็นจากโรคหัวใจมักจะไม่หายเอง และอาจจะมีอาการเป็นซ้ำได้หลังจากที่อาการดีขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าเป็นจากโรคหัวใจมักจะมีการตรวจพบลักษณะของร่างกายผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้น ควรตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นแค่หน้ามืดเป็นลมจากการพักผ่อนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น และนอกจากนี้ การพักผ่อนน้อย อดนอน และปาร์ตี้เยอะร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและติดต่อกันนานแบบสุดเหวี่ยง ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นแค่โรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้มีอาการของโรคในระบบอื่นได้ด้วย 

ชีวิตประจำวันของทุกคนมีเรื่องให้คิดให้วางแผนมากมาย จนบางครั้งเราอาจลืมคิดถึง สุขภาพของตัวเองว่าสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความเสี่ยงควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงปัจจัยหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ได้มากที่สุด เช่นรักษาภาวะความดันโลหิตสูง ควบคุมน้ำตาลในคนที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน และควบคุมอาหารในคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ในช่วงหยุดยาว ควรพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หนักและดื่มน้ำเปล่า แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือมีอาการที่เข้าข่ายข้อควรระวังที่จะบ่งชี้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจฉับพลัน ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ พร้อมรองรับการรักษาตลอด 24 ชม. ไม่มีวันหยุด โดยทีมแพทย์ฉุกเฉินผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและทรวงอก โดยมีความพร้อมของเครื่องมือ เช่น เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Transport ECMO) ระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤตติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์ชั้นสูง ร่วมกับทีมแพทย์ พยาบาลฉุกเฉิน และทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อการรักษาอย่างเต็มความสามารถ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รพ.หัวใจกรุงเทพ โทร.1719 หรือ http://bangkokhearthospital.com 

………………………………………………………………………..