นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน พ.ศ.2560พบว่า โรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศทั้งสิ้น 347 แห่ง เป็นโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนที่มีขนาดน้อยกว่า 31 เตียง มีจำนวน 83 แห่ง หรือร้อยละ 23.9 ขนาด 31-50 เตียง มีจำนวน 46 แห่ง หรือร้อยละ 13.3 ขนาด 51 -100 เตียง มีจำนวน 100 แห่ง หรือร้อยละ 28.8 และที่มีขนาดมากกว่า 100 เตียง มีจำนวน 118 แห่ง หรือร้อยละ 34.0 ของจำนวนโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศทั้งสิ้นมีจำนวน 61.64 ล้านราย เป็นผู้รับบริการผู้ป่วยนอก 58.84 ล้านราย หรือร้อยละ 95.5 และเป็นผู้รับบริการผู้ป่วยใน 2.80 ล้านราย หรือร้อยละ 4.5 สำหรับจำนวนผู้ป่วยโดยเฉลี่ยต่อกิจการ มีประมาณ 177,642 รายต่อกิจการ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยนอก 169,562 รายต่อกิจการและผู้ป่วยใน 8,080 รายต่อกิจการ ผู้ป่วยชาวต่างประเทศที่เข้ามารับบริการ มีจำนวนทั้งสิ้น 4.23 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มารับบริการที่เป็นผู้ป่วยนอกชาวต่างประเทศ ร้อยละ 95.6 และผู้มารับบริการเป็นผู้ป่วยในชาวต่างประเทศร้อยละ 4.4
สำหรับจำนวนบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนรวมทั้งสิ้น 179,966 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาล คือ 109,920 คน หรือร้อยละ 61.1 เป็นเจ้าหน้าที่บริการโรงพยาบาล 41,033 คน หรือร้อยละ 22.8 เป็นเจ้าหน้าที่บริการทางการแพทย์ 18,450 คน หรือร้อยละ 10.2 และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร 10,563 คน หรือร้อยละ 5.7 ในด้านผลการดำเนินกิจการในปี 2559 พบว่า การดำเนินกิจการในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึง 99,427.0 ล้านบาท ซึ่งมาจากมูลค่ารายรับจากการดำเนินกิจการ 234,327.2 ล้านบาท หักด้วยค่าใช้จ่ายขั้นกลางในการดำเนินการ 134,900.2 ล้านบาท พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th นายภุชพงค์ฯ กล่าว